Arts in Southeast Asia
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศิลปกรรมยอดนิยม
Most Popular
ศิลปกรรมล่าสุด
Latest
หอคอยมัสยิดกำปงกลิง
อาคารมัสยิดแบบเอเชียอาคเนย์ มีลักษณะแตกต่างไปจากแบบอินเดียหรือเปอร์เซียมาก คืออยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในมีเสาสี่ต้นรองรับหลังคาลาดจำนวนมากซึ่งเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ไม่มีโดม ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือหอคอยซึ่งมีเรือนธาตุซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆและจบด้วยหลังคาลาดแบบจีน การซ้อนชั้นของหอคอยดังกล่าวคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับเจดีย์ (ถะ) ในศิลปะจีน ในขณะเดียวกันก็คล้ายคลึงกับหอคอยตามแบบดาร์คารห์ (Dargarh) ของนาคปัฏฏนัมในอินเดียใต้ด้วย
อาณานิคมดัตช์
พุทธศตวรรษที่ 22-23
สถาปัตยกรรม
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระพักตร์แลดูสี่เหลี่ยม สีพระพักตร์สงบ พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่งกว่าพระพุทธรูปศิลปะลพบุรีทั่วไป พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน มีพระอุณาโลมกลมอยู่กึ่งกลางพระนลาฏ ปรากฏแถบไรพระศกที่พัฒนามาจากกระบังหน้าคาดอยู่เหนือพระนลาฏ เป็นหนึ่งในจุดสังเกตที่สะท้อนถึงความแตกต่างไปจากศิลปะลพบุรีทั่วไป พระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะเป็นทรงกรวยแหลม ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิสลักนูนเด่นอยู่ในทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่พาดอยู่บนพระอังสาซ้าย ฐานบัวที่รองรับพระพุทธองค์ปรากฏแต่เพียงลายกลีบบัวหงาย
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบอยู่เหนือขนดนาค พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระพักตร์สี่เหลี่ยม สีพระพักตร์เข้มขรึม พระเนตรเบิกโพรง สวมมงกุฎอันประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวย สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลมพระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือยสังเกตได้จากการปรากฏช่องทะลุระหว่างพระปรัศว์ (สีข้าง) กับพระกรทั้งสองข้าง ขณะเดียวกันก็ปรากฏลายเส้นสลักลึกเป็นรอยจีวรแบบห่มเฉียงและสังฆาฏิสี่เหลี่ยมใหญ่ เข้าใจว่าอาจสลักเพิ่มเติมภายหลัง พระวรกายช่วงล่างครองสบง นาคปรกเบื้องหลังพระเศียรอยู่ในโครงคล้ายใบโพธิ์ มี 7 เศียรโดยเศียรกลางมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะที่เศียรด้านข้างข้างละ 3 เศียรมีขนาดเล็กกว่า ทั้งหมดหันหน้าเข้าหาเศียรกลาง ขนาดนาคที่รองรับพระพุทธองค์มี 3 ขนด โดยขนดบนมีความกว้างและหนาที่สุด จากนั้นจึงลดหลั่นขนาดลงมาทำให้เส้นรอบนอกเป็นทรงสอบ
สถาปัตยกรรมพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีฐานเขียง 2 ฐานเป็นฐานรองล่างในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม 3 ฐาน โดยฐานชั้นที่ 1 ปรากฏเพียงส่วนบนเท่านั้น มีการประดับด้วยสิงห์นั่งที่พื้น ถัดขึ้นมาคือนรสิงห์บนฐานรองล่าง ต่อด้วยปูรณะฆฏะ 2 ชั้น ด้านบนสุดประดับสถูปิกะ ถัดไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมลบมุมต่อด้วยบัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลมค่อนข้างเตี้ยมีรัดอกประดับลายกระทง ถัดขึ้นไปเป็นกลีบบัวรองรับปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้น ส่วนยอดสุดประดับฉัตร
สถาปัตยกรรมเจดีย์ช้างล้อม
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ฐานล่างเป็นฐานเขียงต่อด้วยฐานช้างล้อม ที่มีประติมากรรมรูปช้างทั้งสิ้น 15 เชือก ต่อด้วยทางประทักษิณมีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก เรือนธาตุมีการประดับซุ้มด้านละ 3 ซุ้ม รวม 12 ซุ้มมีการประดับลวดลายปูนปั้น จระนำกลางเป็นซุ้มซ้อน ส่วนยอดเป็นหลังคาลาด 2 ชั้นในผังยกเก็จ ต่อด้วยชุดฐานรองรับองค์ระฆัง 3 ฐานในผังแปดเหลี่ยม บัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลม บัลลังก์ในผังเพิ่มมุม ก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลี
สถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงปราสาท วัดเกาะกลาง
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงรองรับส่วนเรือนธาตุที่เป็นห้องและมีลักษณะเป็นจตุรมุขมีซุ้มจระนำยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน แต่ละซุ้มมีการประดับลวดลายปูนปั้น เหนือขึ้นไปเป็นเจดีย์ทรงระฆังต่อด้วยปล้องไฉนแต่หักหายไปแล้ว
สถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงระฆัง วัดกิตติ
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีฐานเขียงรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น 2 ฐานยืดท้องไม้สูงในผังยกเก็จ ต่อด้วยฐานหน้ากระดานกลมรองรับชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น 3 ฐาน ต่อด้วยบัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังกลมมีรัดอก ต่อด้วยบัลลังก์ในผังเพิ่มมุม ก้านฉัตร ปล้องไฉน
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอยู่ในอิริยาบถยืนตรง พระเศียร พระกร และระชงฆ์ตลอดจนพระบาทชำรุดหักหายไปหมดแล้ว บริเวณพระอุระตลอดจนพระอังสา (ไหล่) และพระพาหา (ต้นแขน) ประดับด้วยแถวพระพุทธรูปจำนวนมากมายราวกับเป็นเกราะ กึ่งกลางพระอุระและบั้นพระองค์ปรากฏรูปบุคคลขนาดใหญ่อาจหมายถึงนางปรัชญาปารมิตา สวมสมพตสั้นที่สลักลวดลายอย่างคร่าวๆ ช่วงล่างของพระองค์ตั้งแต่พระอูรุ (ต้นขา) ใหญ่ผิดสัดส่วนตามแบบประติมากรรมในศิลปะบายน
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม สภาพสมบูรณ์มากมีเพียงพระกรทั้งแปดที่หักหายไป พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรปิด แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อยตามอย่างศิลปะเขมรแบบบายน ทำให้เกิดความรู้สึกสงบ เกล้าพระเกศาเป็นมวยทรงกระบอก มีรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะประดับมวยผม และมีพระพุทธรูปจำนวนมากประดับพระเศียรแทนเส้นพระเกศา พระองค์ส่วนบนประดับด้วยแถวพระพุทธรูปจำนวนมากมายราวกับเป็นเกราะ กึ่งกลางพระอุระและบั้นพระองค์ปรากฏรูปบุคคลขนาดใหญ่ อาจหมายถึงนางปรัชญาปารมิตา พระกรทั้งแปดหักหายไปแล้ว สวมสมพตสั้นที่สลักลวดลายอย่างคร่าวๆ ช่วงล่างของพระองค์ตั้งแต่พระอูรุ (ต้นขา) จนถึงพระบาทใหญ่ผิดสัดส่วน สวมธำมรงค์ที่นิ้วพระบาททั้งสิบ