ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, อวโลกิเตศวร, พระโพธิสัตว์

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7576
Long : 100.492222
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661329.97
N : 1521418.09
ตำแหน่งงานศิลปะภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติการสร้าง

ไม่พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงประวัติและรายละเอียดการสร้าง แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ที่มีความใกล้ชิดกับพระพิมพ์ศิลปะอินเดียแบบปาละปาละและพระพิมพ์ในศิลปะชวาภาคกลางในอินโดนีเซีย ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 จึงอาจกำหนดอายุพระโพธิสัตว์องค์นี้ไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด

ลักษณะทางศิลปกรรม

ประติมากรรมนี้อยู่ในสภาพชำรุด เหลือเพียงพระเศียรและพระวรกายส่วนบนที่แสดงอาการเอียงตนหรือตริภังค์ ในขณะที่มวยพระเกศา พระกรทั้งสองข้าง และพระวรกายส่วนล่างชำรุดสูญหายไปแล้ว

พระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง มีพระอุณาโลมที่พระนลาฏ สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาที่เคยมีอยู่ทางด้านบนได้หักหายไปแล้ว เหลือแต่พระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา

สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์โดยสังเกตได้จากหัวเลียงผาที่อยู่บริเวณพระอังสาซ้าย ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอยที่มีสายอุบะห้อยระย้า มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย

ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์นี้ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามที่สุดตัวอย่างหนึ่งของศิลปะศรีวิชัยทางภาคใต้ของไทย ทั้งยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าภาคใต้ของไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับดินแดนที่นับถือพุทธศาสนามหายานแห่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียในสมัยราชวงศ์ปาละ และเกาะชวาประเทศอินโดนีเซียในสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์

จากงานวิจัยของนักวิชาการในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะเชื่อได้ว่าประติมากรรมองค์นี้หล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง


ข้อสังเกตอื่นๆ

นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์นี้อาจจะเป็นองค์เดียวกันกับที่ปรากฏในจารึกวัดเสมาเมือง ที่ระบุว่าพระเจ้ากรุงศรีวิชัยโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1318 อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ได้เสนอว่ารูปแบบบางอย่างเป็นแบบแผนที่จะนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 แล้ว ดังนั้นอาจจะไม่ใช้รูปที่จารึกเสมาเมืองกล่าวถึง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 14

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะศรีวิชัย
อายุพุทธศตวรรษที่ 14-15
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายมหายาน
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนามหายาน
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแปดกร จากวัดพระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ศิลปะไทยภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. กรุงเทพฯ : มติชนปากเกร็ด, 2558.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2523.