ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เจดีย์ภูเขาทอง
คำสำคัญ :
ชื่อหลัก | วัดภูเขาทอง |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ภูเขาทอง |
อำเภอ | พระนครศรีอยุธยา |
จังหวัด | พระนครศรีอยุธยา |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 14.369049 Long : 100.53977 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 666029.91 N : 1589095.68 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางวัด |
ประวัติการสร้าง | พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพระราชหัตถเลขาเอ่ยถึงวัดภูเขาทองว่าสมเด็จพระราเมศวรโปรดให้สถาปนาวัดภูเขาทองขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1930 ถือว่าเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ไม่มีรายละเอียดว่ามีสิ่งก่อสร้างใดบ้าง อีกทั้งปีนั้นพระองค์ได้สวรรคตลง จึงไม่อาจทราบได้ว่าการสร้างวัดภูเขาทองได้สำเร็จตามพระราชประสงค์หรือไม่ ศิลปกรรมที่พบได้ในวัดก็ยังไม่พบว่าสิ่งใดเก่าจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้นนี้เลย สำหรับองค์เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองก็ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างในพระราชพงศาวดาร แต่ทว่าปรากฏอยู่ในหลักฐานอื่นๆ บ้างสอดคล้องกัน บ้างขัดแย้งกัน คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า เมื่อพระองค์สามารถยึดครองกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. 2112 ได้ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาระยะหนึ่ง ครั้งนั้นโปรดให้สร้างเจดีย์ภูเขาทองขึ้น ความว่า “...ในเวลาเมื่อพระเจ้าหงสาวดียังประทับอยู่ที่พระนครศรีอยุธยานั้น ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์ 1 ที่ตำบลทุ่งภูเขาทอง ขนานนามพระเจดีย์นั้นว่า เจดีย์ภูเขาทอง ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้...” อย่างไรก็ตาม บันทึกของนายแพทย์แกมเฟอร์ ชาวฮอลันดา ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2233 กลับให้ข้อมูลว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะแก่กษัตริย์มอญอย่างใหญ่หลวง ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นไทยได้เข่นฆ่าและตีทัพของข้าศึกแตกพ่ายไป เมื่อนำข้อความดังกล่าวนี้ไปพิจารณาร่วมกันกับพระราชพงศาวดารจะพบได้ว่าชัยชนะที่มีเหนือกองทัพพม่าหรือมอญเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชด้วยการทำยุทธหัตถี บางท่านจึงเชื่อว่าสมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้สร้างเจดีย์องค์นี้ และเห็นว่าเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ยุทธหัตถี การวิจัยของนักวิชาการ ศ.เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ได้เสนอว่ารูปแบบของเจดีย์บริวารในวัดภูเขาทองควรมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 หรือรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรได้ เจดีย์บริวารเหล่านี้มีรูปแบบเดียวกันกับเจดีย์ประธานองค์นี้ จึงทำให้เชื่อว่าทเจดีย์ทั้งหมดนี้ควรสร้างขึ้นพร้อมๆ กัน บันทึกของนายแพทย์แกมเฟอร์ซึ่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2233 ยังพรรณนาถึงรูปทรงของเจดีย์ภูเขาทองและวาดภาพลายเส้นไว้ด้วย ซึ่งมีรูปแบบที่ไม่ต่างจากปัจจุบัน ย่อมหมายความว่าการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2287 ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของเจดีย์ไปจากเดิม |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 การบูรณะครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2540 โดยบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนทุนเป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท ในครั้งนั้นได้มีการขุดตรวจทางโบราณคดีบริเวณฐานเจดีย์และฐานประทักษิณ วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะอีกครั้งในระหว่าง พ.ศ. 2550 –2551 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ธงชัยกายเพชร จำกัด (มหาชน) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,000,000 บาท สภาพโบราณสถานก่อนการบูรณะเกิดคาบฝุ่นเกาะอยู่ที่ผิวอิฐจากตะกอนฝุ่นที่พัดพามากับน้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานาน และองค์เจดีย์เกิดคราบดำจากความชื้นและเชื้อราตลอดทั้งองค์ โดยภายหลังจากการบูรณะแล้ว คราบราสีดำที่จับอยู่บริเวณโบราณสถานและวัชพืชที่ขึ้นอยู่ตามแนวอิฐของโบราณสถานได้ถูกขัดล้างออกไป ต่อมามีการบูรณะอีกครั้งในระหว่าง พ.ศ. 2555 –2556 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ดับเบิลยู เอ อาร์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้งบประมาณในการบูรณะ 3,897,000 บาท |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เจดีย์ภูเขาทองเป็นเจดีย์ที่มีขนาดสูงใหญ่มาก ประกอบด้วยฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นหลายชั้น ตรงกลางแต่ละด้านมีบันไดทางขึ้นสู่ลานยอด บนลานยอดมีเจดีย์เพิ่มมุมไม้สอบสอง หรือย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่ตรงกลาง ทรุดเอียงเล็กน้อย องค์ประกอบสำคัญมีดังนี้ กึ่งกลางของเจดีย์มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ที่ด้านทั้งสี่ ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถา องค์ระฆังเพิ่มมุมหรือย่อมุม และส่วนยอด |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | 1. เจดีย์ภูเขาทองเป็นเจดีย์เพิ่มมุมหรือย่อมุมที่สมบูรณ์ที่สุดตัวอย่างหนึ่งในสมัยอยุธยา เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับศึกษาศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง อาจมีอายุอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 2. เจดีย์ภูเขาทองตั้งอยู่บนฐานทักษิณที่สูงมาก รูปแบบของฐานมีส่วนบัวคว่ำเอนลาดกว่าศิลปะอยุธยา บางท่านเชื่อว่าน่าจะเป็นอิทธิพลจากศิลปะมอญ ส่วนฐานนี้อาจจะสร้างขึ้นในคราวที่กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราชของหงสาวดี 3. เจดีย์ภูเขาทองอาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวร ที่กระทำยุติหัตถีมีจนชัยเหนือพระมหาอุปราช นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่ม ดังนี้ 1. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึงเจดีย์องค์นี้ว่าเป็นหนึ่งในห้าของพระมหาเจดียสถานคู่พระนครศรีอยุธยา ความว่า “พระมหาเจดีย์ฐานที่เปนหลักกรุง 5 องค์ คือพระมหาเจดีย์วัดสวนหลวงสพสวรรค์ 1 พระมหาเจดีย์วัดขุนเมืองใจ 1 พระมหาเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทย 1 พระมหาเจดีย์วัดภูเขาทอง สูงเส้นห้าวา 1 พระมหาเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลสูงเส้นห้าวา 1” 2. คำให้การชาวกรุงเก่าเอ่ยถึงรายชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก มีวัดวัดภูเขาทองอยู่ในลำดับที่ 28 และยังให้ข้อมูลว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าหงสาวดี 3. หนังสือภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาเอ่ยถึงเจดีย์ภูเขาทองว่าเป็นหนึ่งในเจดีย์นอกเมืองที่เป็นหลักของกรุงศรีอยุธยา ความว่า “((สะกดตามต้นฉบับ)... อนึ่งเปนหลักกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาราชธานีใหญ่นั้น คือพระมหาประสาทสามองค์กับพระมหาธาตุวัดพระราม 1 วัดหน้าพระธาตุ 1 วัดราชบุณะ1 แลพระมหาเจดียถานวัดสวนหลวงศภสวรรค์ 1 วัดขุนเมืองใจ 1 กับพระพุทธปะฏิมากรวัดพระศรีสรรเพชร์ 1 วัดมงคลบพิท 1 และนอกกรุงเทพฯ นั้น คือพระมหาเจดีย์ยถานวัดเจ้าพญาไทสูงสองส้นหกวา 1 วัดภูเขาทองสูงสองเส้นห้าวา 1 กับพระประธารวัดเจ้าพะอนงเชิงของพระเจ้าสามโปเตียนช่าง ผิดกรวมเงาดวงแก้วยอด พระเจดียวัดเจ้าพญาไทป่าแก้วตกตำบลที่นี้นอกกรุงเทพมหานครแล ฯ” 4. บันทึกของนายแพทย์แกมเฟอร์ได้บรรยายถึงเจดีย์ภูเขาทองไว้ ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากที่เห็นได่ในปัจจุบัน ดังนี้ (เปลี่ยนตัวสะกดให้เป็นแบบปัจจุบัน) “พระเจดีย์ภูเขาทอง (Pyramid Pkah Thon, หรือ Puka’thon) อันลือชาปรากฏ ตั้งอยู่บนที่ราบห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลีกหนึ่ง เจดีย์นี้ไทยได้สร้างขึ้นไว้เป็นที่ระลึกที่ได้ชัยชนะแก่กษัตริย์มอญอย่างใหญ่หลวง ณ ที่นั้นไทยได้เข่นฆ่าและตีทัพอันใหญ่หลวงของข้าศึกแตกพ่ายไป เป็นอันว่าไทยปลดเปลื้องอำนาจของมอญหลุดพ้นกลับคืนสู่ความเป็นไทยแต่ดั้งเดิมได้อีกในครั้งนั้น เจดีย์นี้ดูรูปป้อมๆ แต่งดงามมาก สูงราว 40 ฟาทมเศษ ตั้งอยู่บนฐานจัตุรัส ล้อมด้วยกำแพงอันประณีตเตี้ยๆ ตัวเจดีย์ประกอบด้วยโครงสองอันซ้อนกัน ส่วนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวประมาณด้านละ 150 เพซ สูงราว 12 ฟาทม เรียวเป็นเถาขึ้นไป ทุกด้านย่อมุมเป็นสามแฉกขึ้นไปจนถึงยอด ดูเป็นรูปหลายเหลี่ยม มีสี่ชั้นซ้อนกัน ชั้นบนสอบแคบลง ทำให้ยอดชั้นรองลงมามีที่ว่างเหลือเป็นระเบียงเดินได้รอบ ทุกชั้นเว้นแต่ชั้นล่างสุดทำเป็นรูปงอนอย่างประหลาด และที่ริมระเบียงกั้นเป็นลูกกรง ยกหัวเม็ดที่มุมอย่างงดงาม ที่มุมตอนกลางของทุกๆชั้นทำเหมือนอย่างหน้าตึก ประกอบด้วยความงามและการประดับประดายิ่งกว่าที่อื่น โดยเฉพาะชั้นยอดตรงปลายเรียวแหลมนั้นงามเป็นพิเศษ ตรงกลางมีบันไดแล่นจากพื้นขึ้นไปยังชั้นบนซึ่งเป็นฐานของโครงชั้นที่สอง มีขั้นบันได 74 ขั้นด้วยกัน ขึ้นหนึ่งสูง 9 นิ้ว ยาว 4 เพซ โครงชั้นที่สองสร้างขึ้นบนพื้นชั้นบนของโครงแรก เป็นโครงสี่เหลี่ยมจัตรัสเหมือนกัน ยาวด้านละ 36 เพซ เรียวสูงชลูดขึ้นไปตรงกึ่งกลางฐาน ทำให้ดูงาม มีลูกกรงล้อมรอบเหมือนกัน ปล่อยที่ว่างบนพื้นฐานราวด้านละ 5 เพซ บันไดสุดลงตรงระเบียงนี้ ปากทางประกอบด้วยเสางามขนาบทั้งสองข้าง ฐานหรือชั้นล่างของโครงที่สองเป็นรูปแปดเหลี่ยม ทางด้านใต้ ด้านตะวันออก ด้านตะวันตก และด้านเหนือ ยาวด้านละ 11 เพซ ส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ และด้านตะวันตกเฉียงเหนือยาวด้านละ 12 เพซ มีหยักงอนเหมือนโครงด้านล่าง สูงราว 2-3 ฟาทม ถัดขึ้นไปลักษณไม่ต่างอะไรกับตึกยอดแหลม ซึ่งชั้นบนทำเป็นเสาสั้นๆ เว้นระยะห่างกันเล็กน้อย ระหว่างแต่ละเสาปล่อยว่าง เสาเหล่านี้หนุนติดกับตัวเจดีย์ สูงเรียวขึ้นไปเป็นที่สุดด้วยยอดแหลมยาว น่าพิศวงอย่างยิ่งที่ยอดแหลมนี้ทนฟ้าทนลมมาเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ได้อย่างไร นอกจากเจดีย์ที่กล่าวนี้แล้ว ก็มีโบสถ์ วิหาร การเปรียญของพระ ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบก่อก้วยอิฐอย่างประณีต โบสถ์นั้นรูปร่างแปลก มีหลังคาหลายชั้น มีเสาจุนอยู่” 5. นิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2373 ได้พรรณนาถึงเจดีย์ภูเขาทองไว้ ซึ่งมีรูปแบบที่ไม่ต่างจากปัจจุบัน ดังนี้ ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวัดอุโบสถ เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด มนจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น ต่างชวนชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม ประทักษิณจินตนาพยายาม ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์ มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์ แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก เผยอแยกยอดสุดก็หลุดหัก โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | อยุธยา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 22 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | พงศาวดารเหนือบันทึกไว้อย่างเป็นตำนานว่าผู้สร้างเจดีย์ภูเขาทองคือพระนเรศวรหงสา พระองค์ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยา ได้มีสาส์นถึงพระนารายณ์กษัตริย์อยุธยาว่าหมายจะสร้างเจดีย์แข่งกัน ใครสร้างเสร็จก่อนถือว่าชนะ พระนเรศวรหงสาสร้างเจดีย์ภูเขาทอง กว้าง 3 เส้น สูง 7 เมตร |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-07-21 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | สันติ เล็กสุขุม, เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมุม สมัยอยุธยา กรุงเทพฯ : มูลนิธิ เจมส์ ทอมป์สัน, 2529. ศิลปากร, กรม, ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. ไทยในจดหมายเหตุแกมเฟอร์ พระนคร : กรมศิลปากร, 2487. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดับเบิลยู เอ อาร์ คอนสตรัคชั่น, รายงานโครงการฟื้นฟูโบราณสถานอันเนื่องมาจากอุทกภัยพ.ศ. 2554 : การบูรณะโบราณสถานวัดภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดับเบิลยู เอ อาร์ คอนสตรัคชั่น, 2555. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธงชัยกายเพชร, โครงการฟื้นฟูโบราณสถานอันเนื่องมาจากอุทกภัย พ.ศ. 2549 : รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: ธงชัยกายเพชร, 2551. |