ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระพุทธรูปนาคปรก
คำสำคัญ :
ชื่อเรียกอื่น | พระพุทธรูปทรงเครื่อง |
---|---|
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.7576 Long : 100.492222 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661329.97 N : 1521418.09 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | หินทรายแกะสลัก |
ประวัติการอนุรักษ์ | ค้นพบที่วัดหน้าพระเมรุ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ขนาด | สูง 184 เซนติเมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบอยู่เหนือขนดนาค พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระพักตร์สี่เหลี่ยม สีพระพักตร์เข้มขรึม พระเนตรเบิกโพรง สวมมงกุฎอันประกอบด้วยกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวย สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลม พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือยสังเกตได้จากการปรากฏช่องทะลุระหว่างพระปรัศว์ (สีข้าง) กับพระกรทั้งสองข้าง ขณะเดียวกันก็ปรากฏลายเส้นสลักลึกเป็นรอยจีวรแบบห่มเฉียงและสังฆาฏิสี่เหลี่ยมใหญ่ เข้าใจว่าอาจสลักเพิ่มเติมภายหลัง พระวรกายช่วงล่างครองสบง นาคปรกเบื้องหลังพระเศียรอยู่ในโครงคล้ายใบโพธิ์ มี 7 เศียรโดยเศียรกลางมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะที่เศียรด้านข้างข้างละ 3 เศียรมีขนาดเล็กกว่า ทั้งหมดหันหน้าเข้าหาเศียรกลาง ขนาดนาคที่รองรับพระพุทธองค์มี 3 ขนด โดยขนดบนมีความกว้างและหนาที่สุด จากนั้นจึงลดหลั่นขนาดลงมาทำให้เส้นรอบนอกเป็นทรงสอบ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระพุทธรูปทรงเครื่องมีนาคปรกองค์นี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก ถือเป็นตัวอย่างของพระพุทธรูปในศิลปลพบุรีหรือศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบนครวัดที่งดงามและสมบูรณ์ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | พระพักตร์และกระบังหน้าปิดทองคำเปลว เข้าใจว่าเป็นศรัทธาของคนรุ่นหลังเมื่อย้ายมาไว้ที่วัดหน้าพระเมรุแล้ว ไม่ใช่สมัยแรกสร้างแต่อย่างใด |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ลพบุรี |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 17 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ตามปกติพระพุทธรูปปางนาคปรกจะหมายถึงเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 6 หลังตรัสรู้ ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับนั่งใต้ต้นจิกริมฝั่งสระน้ำ ครานั้นพายุฝนกำลังจะเกิด พญานาคมุจลินท์ที่อาศัยในสระน้ำจึงมาขนดกายล้อมพระพุทธองค์เพื่อปกป้องให้รอดพ้นจากพายุฝน อย่างไรก็ตามในสายวัฒนธรรมเขมรความนิยมพระพุทธรูปปางนาคปรกอาจจะเกี่ยวข้องกับการนับถือบูชานาคด้วยก็ได้ โดยนอกจากจะมีฤทธิ์แล้วชาวเขมรยังเชื่อว่านาคเป็นบรรพบุรุษของตนด้วย สำหรับการสวมเครื่องทรงอันได้แก่กระบังหน้า รัดเกล้า และกุณฑล คงเกิดขึ้นจากประเพณีถวายเครื่องทรงจริงที่ทำด้วยของมีค่าแด่พระพุทธรูป ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังนั้นเครื่องทรงของพระพุทธรูปกับเทวรูปในวัฒนธรรมเขมรจึงเหมือนกัน |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-30 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประติมากรรมขอม. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2515. สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2533. สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทาลัยศิลปากร, 2547. |