ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ยักษ์วัดพระแก้ว

คำสำคัญ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดพระแก้ว, ยักษ์ทวารบาล, ยักษ์วัดพระแก้ว, ยักษ์วัดโพธิ์

ชื่อเรียกอื่นยักษ์ทวารบาล
ชื่อหลักวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ชื่ออื่นวัดพระแก้ว
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศารุ้งแวง
Lat : 13.75121
Long : 100.493048
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661422.05
N : 1520713.21
ตำแหน่งงานศิลปะประตูระเบียงคดด้านใน

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 จำนวน 4 คู่ และสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 5 อีก 2 คู่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสันนิษฐานว่า “…ยักษ์วัดพระแก้วนั้น คงทำขึ้นในรัชกาลที่ 3 เป็นประเดิมเพราะจำได้ว่า คู่ทศกัณฐ์-สหัสเดชะนั้นเป็นฝีมือหลวงเทพรจนา(กัน) คือมือที่ปั้นยักษ์วัดอรุณฯ สันนิษฐานว่า เพราะเวลานั้น มีช่างฝีมือดี ๆ จึงได้ทำขึ้นไว้ เพราะทำแกนด้วยไม้ ครั้นไม้ผุก็ล้มซวนทลายไปบ้าง ถึงเมื่อซ่อมคราว 100 ปี จึงกลับเกณฑ์กันขึ้นใหม่ นับว่าเป็นการสมควรอยู่ เพราะเวลานั้นช่างปั้นอันมีฝีมือพอดูได้ยังมีอยู่บ้าง…”

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ

ประวัติการอนุรักษ์

ในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้กล่าวถึงประวัติการปั้นยักษ์ว่า

“….ครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเตรียมงานมหกรรมฉลองกรุงเทพมหานคร จะมีอายุครบ 100 ปี และสมโภชพระแก้วมรกตด้วย เมื่อ พ.ศ. 2425 นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงของแรงพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงรับเป็นนายงานทำการปฏิสังขรณ์ทุกพระองค์ และโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ทำหอพระคันธารราษฎร์ และหอพระเจดีย์ประดับกระเบื้อง และปูศิลา และทำกำแพงแก้วภายนอกและทำเพดานเขียน ปั้น ปูพื้นและทำเรือนแก้วภายนอกพระคันธารราษฎร์ ทำใหม่ทั้งสิ้น และปั้นประดับกระเบื้อง รูปยักษ์ประตูคู่หนึ่ง”สันนิษฐานว่าคงเป็นคู่มังกรกัณฐ์และวิรุฬหกที่ยืนอยู่หน้าประตูหน้าหอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งทรงเป็นนายงานนั่นเอง

นอกจากนี้ยักษ์ทวารบาลทั้งหมดได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อพ.ศ.2525
ขนาดสูงประมาณ 6 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

ประติมากรรมรูปยักษ์ทั้ง 12 ตน ทำด้วยปูนปั้น เครื่องแต่งกายประกอบขึ้นจากกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ทำเป็นมงกุฎที่มียอดแตกต่างกันเช่นเดียวกับหัวโขน สวมเสื้อแขนยาว สนับเพลา ชายไหว รองเท้าปลายแหลม ลักษณะเดียวกับเครื่องแต่งกายโขน ระบายสีผิวพรรณแตกต่างกันโดยใช้สีเช่นเดียวกับหัวโขนของยักษ์แต่ละตน ยักษ์ทั้ง 6 คู่ ประกอบด้วย

คู่ที่ 1. สุริยาภพ และอินทรชิต

คู่ที่ 2. มังกรกัณฐ์ และวิรุฬหก

คู่ที่ 3. ทศคีจันธร และทศคีรีวัน

คู่ที่ 4. จักรวรรดิ์ และอัศกรรณมาราสูร

คู่ที่ 5. ทศกัณฐ์ และสหัสสเดชะ

คู่ที่ 6. ไมยราพ และวิรุฬจำบัง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

รอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีประติมากรรมรูปยักษ์ขนาดใหญ่ยืนเป็นคู่ ในมือกุมกระบอง หันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถ โดยประจำอยู่ที่ซุ้มประตูระเบียงคด รวมทั้งสิ้น 6 คู่หรือ 12 ตน ยักษ์เหล่านี้เป็นตัวละครสำคัญจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ยักษ์ตัวเอกที่สำคัญเช่นทศกัณฐ์มีกายสีเขียว สหัสเดชะมีกายสีขาว เป็นต้น ยักษ์ทั้ง 12 ตนทำหน้าที่เป็นทวารบาลพิทักษ์รักษาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขณะเดียวกันการสร้างประติมากรรมรูปยักษ์ในวัดประจำพระบรมมหาราชวังนั้น ยังอาจเป็นการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ที่เปรียบเสมือนพระรามอันเป็นองค์นาราย์อวตารที่มีชัยเหนือยักษ์เหล่านี้ด้วย ประติมากรรมรูปยักษ์ทวารบาลปรากฏในวัดสมัยรัตนโกสินทร์อีกบางแห่ง เช่น วัดอรุณราชวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงสำคัญในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สะท้อนให้เห็นว่าวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ไม่เพียงแต่จะทรงคุณค่าในด้านวรรณศิลป์เท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงงานศิลปกรรมในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย แม้วรรณคดีเรื่องนี้จะมีที่มาซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ แต่น่าสนใจว่ามีแนวคิดในการนำตัวละครสำคัญโดยเฉพาะฝ่ายยักษ์ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรมมาทำหน้าที่เป็นทวารบาลเพื่อรักษาศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนา ซึ่งอาจแฝงคติธรรมเรื่องธรรมะย่อมชนะอธรรมไว้ด้วย

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก, พราหมณ์
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

รามเกียรติ์

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ยักษ์วัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง, ยักษ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือยักษ์วัดโพธิ์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา. สาส์นสมเด็จ. เล่มที่ 26. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2505.

จดหมายเหตุเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งรัชกาลที่ 3.พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2465.

กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 : ภาคที่ 1 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : สำนักพระราชวัง, 2534.