ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี

คำสำคัญ : ปราสาทเมืองสิงห์, เมืองสิงห์, พระโพธิสัตว์, พระเจ้าชัยวรมันที่ 7, บายน, ลพบุรี, ศิลปะเขมรในประเทศไทย, พระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7576
Long : 100.492222
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661329.97
N : 1521418.09
ตำแหน่งงานศิลปะจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่เป็นศิลปะเขมรแบบบายนจึงกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเมืองสิงห์อันเป็นสถานที่ค้นพบประติมากรรมองค์นี้น่าจะตรงกับเมืองชัยสิงหปุระในจารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้ส่งพระชัยพุทธมหานาถมาประดิษฐานไว้ หากข้อสันนิษฐานข้างต้นนี้เป็นจริงก็อาจตั้งข้อสังเกตถึงความใกล้ชิดระหว่างเมืองพระนครกับเมืองสิงห์ได้ จนอาจตั้งคำถามต่อเนื่องได้ว่าประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีองค์นี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในเมืองพระนครแล้วถูกส่งมาประดิษฐานที่เมืองสิงห์เช่นเดียวกันกับพระชัยพุทธมหานาถได้หรือไม่
กระบวนการสร้าง/ผลิต

หินทรายแกะสลัก

ขนาดสูง 161 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม สภาพสมบูรณ์มากมีเพียงพระกรทั้งแปดที่หักหายไป

พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรปิด แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อยตามอย่างศิลปะเขมรแบบบายน ทำให้เกิดความรู้สึกสงบ เกล้าพระเกศาเป็นมวยทรงกระบอก มีรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะประดับมวยผม และมีพระพุทธรูปจำนวนมากประดับพระเศียรแทนเส้นพระเกศา พระองค์ส่วนบนประดับด้วยแถวพระพุทธรูปจำนวนมากมายราวกับเป็นเกราะ กึ่งกลางพระอุระและบั้นพระองค์ปรากฏรูปบุคคลขนาดใหญ่ อาจหมายถึงนางปรัชญาปารมิตา พระกรทั้งแปดหักหายไปแล้ว สวมสมพตสั้นที่สลักลวดลายอย่างคร่าวๆ ช่วงล่างของพระองค์ตั้งแต่พระอูรุ (ต้นขา) จนถึงพระบาทใหญ่ผิดสัดส่วน สวมธำมรงค์ที่นิ้วพระบาททั้งสิบ
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์นี้แม้ว่าพระหัตถ์จะหักหายไปแล้ว แต่โดยรวมนับว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก เป็นประติมากรรมที่มีรูปแบบตามศิลปะเขมรแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ค้นพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างดินแดนภาคตะวันตกของไทยกับกัมพูชาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ดียิ่ง นอกจากนี้ยังแสดงถึงการเจริญขึ้นของพุทธศาสนามหายานในดินแดนไทยด้วย

ข้อสังเกตอื่นๆ

ค้นพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย, บายน
อายุพุทธศตวรรษที่ 18
ลัทธิ/นิกายมหายาน
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนามหายาน
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

พุทธศาสนามหายาน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีสร้างขึ้นจากความเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล ขุมขนหนึ่งๆ คือหนึ่งจักรวาลที่บรรจุอยู่ภายในพระวรกาย แสดงออกมาโดยแถวพระพุทธเจ้าที่รายรอบทั่วพระองค์ส่วนบนและพระเศียร

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีจากสระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

2. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีจากถ้ำคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ฟิโนต์, หลุยส์. “พระโพธิสัตว์เปล่ารัศมี” แปลโดย หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปากร ปีที่ 10, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2509), หน้า 46-51.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประติมากรรมขอม. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2515.

สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2533.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.