ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
คำสำคัญ : อุโบสถ, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดพระแก้ว, พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, พระอุโบสถ
ชื่อหลัก | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดพระแก้ว |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ที่อยู่ | ถนนหน้าพระลาน |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.751161 Long : 100.492654 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661381.13 N : 1520706 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2325 การสร้างวัดแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2327 และมีการสมโภชฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2328 |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ซึ่งมักเป็นวาระที่บรรจบกับการฉลองพระนครทุก 50 ปี |
ขนาด | - |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอาคารหลังคาคลุมแบบไทยประเพณี ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกและมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องพื้นสีน้ำเงิน ขอบมุงกระเบื้องสีส้มและเหลือง หลังคาซ้อน 3 ชั้น 4 ตับ ปิดทองประดับกระจก ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันทั้ง 2 ด้าน ประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังประดับลายก้านขด ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังอาคารด้านนอกปิดทองประดับกระจก ลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานโดยรอบอาคารประดับประติมากรรมรูปครุฑยุดนาค มีซุ้มประตูเรือนยอดที่ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ ด้านละ 3 ซุ้มประตู มีประติมากรรมสิงโตสำริด 3 คู่ ประดับที่บันไดทางขึ้นด้านหน้า ระเบียงโดยรอบพระอุโบสถมีเสาพาไลย่อมุมไม้สิบสองปิดทองประดับกระจก ประดับบัวแวงที่หัวเสา มีคันทวยรองรับบริเวณชายคา |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | 1. วัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา จึงเป็นวัดที่มีเพียงเขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา 2. ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ อาทิ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ พระสัมพุทธพรรณี เป็นต้น 3. พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นสถานที่สำหรับประกอบพระราชพิธีที่สำคัญทางพุทธศาสนา และพระราชพิธีอื่นๆที่สำคัญในราชสำนัก เช่น พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระราชพิธีพืชมงคล เป็นต้น |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ตำนานพระแก้วมรกต |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดในการสร้างและรูปแบบของอาคารหลังคาคลุมในศิลปะอยุธยา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-05-26 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ศิลปากร, กรม. จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, 2543. |