ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 41 ถึง 48 จาก 471 รายการ, 59 หน้า
ปราสาทเขาน้อย
สระแก้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทเขาน้อย

ผังของปราสาทเขาน้อยประกอบไปด้วยอาคาร 3 หลังตั้งอยู่ในแนวเหนือใต้ ซึ่งหลังเหนือและใต้พังทลายลงเหลือเพียงหลังกลาง ปราสาททิศเหนือและปราสาทหลังกลางตั้งอยู่บนฐานอันเดียวกัน แต่ปราสาททิศเหนือสร้างยื่นล้ำออกมาข้างนอกมาก ส่วนอาคารทิศใต้ตั้งอยู่บนฐานสูงเท่ากันแต่แยกห่างออกไปเล็กน้อย มีเพียงแนวฐานอิฐด้านหลังทำมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าการวางผังก่อสร้างอาคารทั้ง 3 หลังนี้ไม่ได้สร้างให้อยู่ในแนวเดียวกัน เป็นลักษณะที่คล้ายกับการสร้างปราสาทในสมัยก่อนเมืองพระนครของเขมรซึ่งไม่ค่อยมีระเบียบนักปราสาทด้านทิศเหนือมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเข้าด้านทิศตะวันออก อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ช่องทางเข้าสร้างให้ยืดยาวออกไป ทำให้ผังของอาคารด้านนี้มีลักษณะเป็นช่องลึก ผังในห้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละด้านทำเป็นช่องเว้าเข้าไปปราสาทหลังกลางเป็นอาคารก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม้สิบสอง มีทางเข้าทางทิศตะวันออกทางเดียว อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ส่วนด้านในเป็นห้องที่มีความยาวแต่ละด้านไม่เท่ากัน ส่วนทิศใต้เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนฐานอิฐ ผังอาคารก่อสร้างเป็นผนังขึ้นไป ทางเข้าทางทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผังในอาคารก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน

ปราสาทกู่พันนา
สกลนคร
สถาปัตยกรรมปราสาทกู่พันนา

ประกอบด้วยปราสาทประธานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมหนึ่งหลัง ตั้งอยู่กึ่งกลางภายในกำแพงศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เครื่องบนของปราสาทประธานนั้นพังทลายลงไป ส่วนประตูทางเข้าออกนั้นด้านเดียวทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอก ประตูทางเข้าออกนี้ทำเป็นห้องยาวๆ ด้านหน้าเป็นมุข ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานปรากฏเฉพาะส่วนฐานของบรรณาลัยสร้างด้วยศิลาแลงในผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนกึ่งกลางของกำแพงศิลาแลงด้านทิศตะวันออกนั้นปรากฏซุ้มประตูหรือโคปุระในผังจัตุรัสรูปกากบาท และภายนอกกำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีสระน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน

ปราสาทพนมวัน
นครราชสีมา
สถาปัตยกรรมปราสาทพนมวัน

อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลุ่มปราสาทประธานประกอบด้วยตัวปราสาทประธาน อันตราละ และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกันปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม มีซุ้มมุขและประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ โดยมีมุขทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับอันตราละคือฉนวนหรือมุขกระสันซึ่งทำเป็นทางผ่านไปยังมณฑปที่อยู่ทางด้านหน้า มณฑปนั้นมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศเช่นเดียวกับปราสาทประธาน และมีหลังคาเป็นรูปโค้งทรงประทุน ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยแนวระเบียงคดซึ่งมีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ละมุมทั้ง 4 ของระเบียงคดยังปรากฏซุ้มทิศขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมออกมุมมีประตูทางเข้าและประตูที่เชื่อมต่อกับปีกโคปุระทั้ง 2 ด้านส่วนทางทิศใต้ของปราสาทประธานในเขตระเบียงคดมีปราสาทขนาดย่อมลงมาเรียกกันว่าปรางค์น้อย มีผังแบบเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนของเรือนธาตุก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ปัจจุบันส่วนยอดได้พังทลายลงมาแล้ว องค์ปราสาทยังไม่มีการสลักลวดลายตกแต่งลงไปเป็นเพียงโครงสร้างรูปปราสาทเท่านั้น จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นสันนิษฐานว่าปรางค์น้อยนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินทราย นอกจากนี้ภายในระเบียงคดยังพบแนวฐานอาคารอิฐหลายหลังอยู่ล้อมรอบปราสาทประธานอีกด้วย

ปราสาทสด๊อกก๊อกธม
สระแก้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊อกก๊อกธม

ประกอบไปด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกทางเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทประธานมีสภาพไม่สมบูรณ์ก่อด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีเสานางเรียงหรือเสานางจรัลปักอยู่โดยรอบ มีบรรณาลัยสองหลังในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานตามลำดับ อาคารทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีประตูทางเข้าหรือที่เรียกว่าโคปุระทางทิศตะวันออก ส่วนระเบียงคดด้านทิศตะวันตกปรากฏห้องยาวคั่นอยู่กึ่งกลาง ส่วนพื้นที่ระหว่างระเบียงคดและกำแพงแก้วนั้นขุดคูน้ำล้อมรอบ กำแพงแก้วนั้นก่อด้วยศิลาแลง มีโคปุระหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันออกและมีฉนวนหรือทางเดินปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อกันเป็นแนวตรงระหว่างโคปุระของระเบียงคดและโคปุระของกำแพงแก้ว มีเสานางเรียงปักตามแนวทั้งสองข้างทอดยาวไปจนถึงคันดินสระน้ำทางทิศตะวันออกนอกกำแพงแก้ว

กำแพงวัดมหาธาตุวรวิหาร
ราชบุรี
สถาปัตยกรรมกำแพงวัดมหาธาตุวรวิหาร

เนื่องจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งปราสาทขอมในพุทธศตวรรษที่ 18 มาก่อน จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบแผนผังของปราสาทขอมที่ถูกซ้อนทับอยู่ดังนี้ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปรากฏฐานปราสาทประธานหลังเดียวก่อด้วยศิลาแลงบริเวณกึ่งกลางของแผนผัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งปรากฏร่องรอยโคปุระด้านทิศเหนือและทิศใต้เท่านั้น จึงสันนิษฐานว่าระเบียงคดน่าจะมีโคปุระของแต่ละด้านอยู่ทั้งสี่ทิศ และมีตำแหน่งที่ตรงกับโคปุระของกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงที่อยู่ถัดออกไป โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกจะปรากฏร่องรอยทางเดินเป็นแนวยาวจากโคปุระของระเบียงคดเชื่อมต่อกับโคปุระของกำแพงแก้ว บนกำแพงแก้วนั้นประดับทับหลังกำแพงทำจากหินทรายแดง สลักพระพุทธรูปปางสมาธิประทับในซุ้มเรือนแก้ว ทับหลังกำแพงแต่ละชิ้นมีขนาดต่างกัน บางชิ้นสลักพระพุทธรูปองค์เดียว บางชิ้นสลัก 2-4 องค์ มีปะปนกันตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมขอมในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์รูปแบบของศิลปกรรมของทับหลังประดับกำแพงแก้วในสมัยบายนนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเกือบทั้งหมด คือเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางสมาธิ พระเกศาเรียบไม่ตกแต่ง พระรัศมีเป็นทรงกรวย พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบมองต่ำ ครองจีวรแนบพระวรกายและไม่มีการสลักลายละเอียดหรือริ้วจีวร พระพุทธรูปประทับในซุ้มเรือนแก้วซึ่งเป็นซุ้มโค้งเข้าโค้งออก ประดับขอบซุ้มด้วยรวยระกา ที่ปลายขอบซุ้มด้านล่าง ตกแต่งด้วยกนกหรือตัวเหงาหันหน้าเข้าด้านใน การประดับทับหลังกำแพงสลักเป็นพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วนี้ปรากฏเพียงไม่กี่แห่งในสถาปัตยกรรมขอมในประเทศไทย เช่น โบราณสถานเนินโคกพระ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

พระเจดีย์กลางน้ำ จ.ระยอง
ระยอง
สถาปัตยกรรมพระเจดีย์กลางน้ำ จ.ระยอง

เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว มีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับพนักระเบียงด้วยลูกถ้วยเคลือบ มีบันไดขึ้น 2 ข้าง มีกำแพงแก้วเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่ละชั้นค่อนข้างยืดสูง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด ลานด้านล่างโดยรอบปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีอิฐ

เจดีย์อิสรภาพ จ.จันทบุรี
จันทบุรี
สถาปัตยกรรมเจดีย์อิสรภาพ จ.จันทบุรี

เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว มีฐานประทักษิณที่มีพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับพนักระเบียงด้วยกระเบื้องเคลือบปรุลายแบบจีน มีกำแพงแก้วเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ รองรับเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง แต่ละชั้นค่อนข้างยืดสูง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหาน ปล้องไฉนและปลียอด

ค่ายเนินวง
จันทบุรี
สถาปัตยกรรมค่ายเนินวง

ค่ายเนินวงเป็นเมืองป้อมค่ายก่อสร้างด้วยดิน โดยขุดคูขึ้นเป็นเทินรอบเนินดินขนาดใหญ่และก่อกำแพงศิลาแลงมีใบเสมาและช่องปืนบนเชิงโดยรอบ ประตูเมืองเป็นช่องอิฐก่อเป็นคันกันดิน ป้อมประตูเมืองเดิมเป็นอาคารไม้ มุงกระเบื้องอยู่เหนือประตู ยังเหลือตัวอย่างพอสังเกตเค้าได้จากประตูค่ายเนินวง ที่เรียกว่าประตูต้นไทร ด้านทิศเหนือ ตัวป้อมหน้าค่ายเนินวงในปัจจุบัน เป็นป้อมคอนกรีตเสริมเหล็กทรง 8 เหลี่ยมที่บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่