ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

กำแพงวัดมหาธาตุวรวิหาร

คำสำคัญ : วัดมหาธาตุ, วัดมหาธาตุราชบุรี, ทับหลังกำแพง, วัดมหาธาตุวรวิหาร, มหายาน

ชื่อเรียกอื่นกำแพงวัดมหาธาตุราชบุรี
ชื่อหลักวัดมหาธาตุวรวิหาร
ชื่ออื่นวัดมหาธาตุราชบุรี
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลหน้าเมือง
อำเภอเมือง
จังหวัดราชบุรี
ภาคภาคตะวันตก
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.546918
Long : 99.814217
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 588180.1
N : 1497738.41
ตำแหน่งงานศิลปะปัจจุบันมีการสร้างวิหารหลวงซ้อนทับอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหน้าปรางค์ประธาน

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่อด้วยศิลาแลง

ลักษณะทางศิลปกรรม

เนื่องจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งปราสาทขอมในพุทธศตวรรษที่ 18 มาก่อน จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบแผนผังของปราสาทขอมที่ถูกซ้อนทับอยู่ดังนี้

ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปรากฏฐานปราสาทประธานหลังเดียวก่อด้วยศิลาแลงบริเวณกึ่งกลางของแผนผัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งปรากฏร่องรอยโคปุระด้านทิศเหนือและทิศใต้เท่านั้น จึงสันนิษฐานว่าระเบียงคดน่าจะมีโคปุระของแต่ละด้านอยู่ทั้งสี่ทิศ และมีตำแหน่งที่ตรงกับโคปุระของกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงที่อยู่ถัดออกไป โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกจะปรากฏร่องรอยทางเดินเป็นแนวยาวจากโคปุระของระเบียงคดเชื่อมต่อกับโคปุระของกำแพงแก้ว บนกำแพงแก้วนั้นประดับทับหลังกำแพงทำจากหินทรายแดง สลักพระพุทธรูปปางสมาธิประทับในซุ้มเรือนแก้ว ทับหลังกำแพงแต่ละชิ้นมีขนาดต่างกัน บางชิ้นสลักพระพุทธรูปองค์เดียว บางชิ้นสลัก 2-4 องค์ มีปะปนกันตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมขอมในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

รูปแบบของศิลปกรรมของทับหลังประดับกำแพงแก้วในสมัยบายนนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเกือบทั้งหมด คือเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางสมาธิ พระเกศาเรียบไม่ตกแต่ง พระรัศมีเป็นทรงกรวย พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบมองต่ำ ครองจีวรแนบพระวรกายและไม่มีการสลักลายละเอียดหรือริ้วจีวร พระพุทธรูปประทับในซุ้มเรือนแก้วซึ่งเป็นซุ้มโค้งเข้าโค้งออก ประดับขอบซุ้มด้วยรวยระกา ที่ปลายขอบซุ้มด้านล่าง ตกแต่งด้วยกนกหรือตัวเหงาหันหน้าเข้าด้านใน

การประดับทับหลังกำแพงสลักเป็นพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วนี้ปรากฏเพียงไม่กี่แห่งในสถาปัตยกรรมขอมในประเทศไทย เช่น โบราณสถานเนินโคกพระ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

กำแพงแห่งนี้สร้างขึ้นจากศิลาแลงและมีลักษณะต่างๆ ที่เทียบได้กับกำแพงของศาสนสถานที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 น่าจะเป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดราชบุรีกับอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมของพระองค์ได้ อันนำไปสู่การรับรองว่าราชบุรีน่าจะตรงกันกับชื่อเมืองศรีชัยราชบุรีในจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้ส่งรูปพระชัยพุทธมหานาถมาประดิษฐานไว้

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะบายน
อายุพุทธศตวรรษที่ 18
ลัทธิ/นิกายมหายาน
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธมหายาน
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1 ปราสาทกำแพงแลง เพชรบุรี

2. ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี

3. โบราณสถานเนินโคกพระ นครราชสีมา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-18
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ปติสร เพ็ญสุต. ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.