ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมกำแพงวัดมหาธาตุวรวิหาร
เนื่องจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งปราสาทขอมในพุทธศตวรรษที่ 18 มาก่อน จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบแผนผังของปราสาทขอมที่ถูกซ้อนทับอยู่ดังนี้ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปรากฏฐานปราสาทประธานหลังเดียวก่อด้วยศิลาแลงบริเวณกึ่งกลางของแผนผัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งปรากฏร่องรอยโคปุระด้านทิศเหนือและทิศใต้เท่านั้น จึงสันนิษฐานว่าระเบียงคดน่าจะมีโคปุระของแต่ละด้านอยู่ทั้งสี่ทิศ และมีตำแหน่งที่ตรงกับโคปุระของกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงที่อยู่ถัดออกไป โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกจะปรากฏร่องรอยทางเดินเป็นแนวยาวจากโคปุระของระเบียงคดเชื่อมต่อกับโคปุระของกำแพงแก้ว บนกำแพงแก้วนั้นประดับทับหลังกำแพงทำจากหินทรายแดง สลักพระพุทธรูปปางสมาธิประทับในซุ้มเรือนแก้ว ทับหลังกำแพงแต่ละชิ้นมีขนาดต่างกัน บางชิ้นสลักพระพุทธรูปองค์เดียว บางชิ้นสลัก 2-4 องค์ มีปะปนกันตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมขอมในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์รูปแบบของศิลปกรรมของทับหลังประดับกำแพงแก้วในสมัยบายนนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเกือบทั้งหมด คือเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางสมาธิ พระเกศาเรียบไม่ตกแต่ง พระรัศมีเป็นทรงกรวย พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบมองต่ำ ครองจีวรแนบพระวรกายและไม่มีการสลักลายละเอียดหรือริ้วจีวร พระพุทธรูปประทับในซุ้มเรือนแก้วซึ่งเป็นซุ้มโค้งเข้าโค้งออก ประดับขอบซุ้มด้วยรวยระกา ที่ปลายขอบซุ้มด้านล่าง ตกแต่งด้วยกนกหรือตัวเหงาหันหน้าเข้าด้านใน การประดับทับหลังกำแพงสลักเป็นพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วนี้ปรากฏเพียงไม่กี่แห่งในสถาปัตยกรรมขอมในประเทศไทย เช่น โบราณสถานเนินโคกพระ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
ประติมากรรมพระพุทธรูป
พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ใช้หิน 4 ชิ้นประกอบกันเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ชิ้นแรกตั้งแต่พระโสณีลงไปถึงฐานบัว ชิ้นที่สองตั้งแต่พระเศียรลงไปถึงพระโสณี ชิ้นที่สามและสี่ทำพระกรช่วงล่างทั้งสองข้าง การใช้หินหลายก้อนเช่นนี้เป็นกรรมวิธีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของทวารวดีพระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่นพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและมีชายทบไปมาแบบที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ และเห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระกรทั้งสองข้างเพียงส่วนบนตั้งแต่พระพาหา (ต้นแขน) จนถึงพระกะโประ (ศอก) แลเห็นหลุมวงกลมที่ใช้สำหรับรับเดือยของพระกรท่อนล่างที่หลุดหายไปแล้ว พระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัย
เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่ออิฐฉาบปูน ตั้งอยู่กลางฐานไพที องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงยอดมีดังนี้ ฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดอยู่ทางด้านตะวันออก ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกฟักเพิ่มมุมหรือย่อมุมซ้อนกัน 2 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมหรือย่อมุม จากนั้นเป็นส่วนยอดทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
สถาปัตยกรรมวัดมหาธาตุสุโขทัย
วัดมหาธาตุสุโขทัยตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย สภาพปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุมั่นคงถาวร เช่น อิฐ หิน ศิลาแลง พื้นที่วัดล้อมรอบด้วยแนวกำแพงสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกส่วนที่สำคัญที่สุดคือองค์พระมหาธาตุ ตั้งอยู่กึ่งกลางวัด เป็นเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม หรือยอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แวดล้อมด้วยเจดีย์รายแปดองค์ ด้านหน้าเป็นวิหารหลวง ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งแกนกลางของวัด ทางทิศใต้ ตะวันตก และเหนือของแกนกลางนี้มีซากเจดีย์และซากฐานอาคารหลายหลังกระจัดกระจายอยู่ สำหรับอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านเหนือของบริเวณวัด