ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

วัดมหาธาตุสุโขทัย

คำสำคัญ : วัดมหาธาตุ, วัดมหาธาตุสุโขทัย

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักวัดมหาธาตุสุโขทัย
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.016926
Long : 99.703703
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 574899.3
N : 1881562.1
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

วัดมหาธาตุสุโขทัยไม่มีประวัติการสร้างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อมๆกันกับการเป็นราชธานี อย่างน้อยสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ราว พ.ศ. 1800) ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ แต่ไม่ทราบว่าครั้งนั้นมีสิ่งก่อสร้างใดบ้าง จากนั้นกษัตริย์รัชกาลต่อมาได้บูรณปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ มาโดยลำดับ จนมีสิ่งก่อสร้างมากมายดังที่เห็นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ข้อความในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บรรยายถึงกลางเมืองสุโขทัยไว้ตอนหนึ่งว่า “...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม...” ซึ่งอาจเป็นการบรรยายถึงวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัยด้วยก็ได้
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

มีการขุดแต่งบูรณะครั้งแรก พ.ศ. 2496 ต่อมามีการบูรณะเป็นครั้งคราว แต่งานยังไม่แล้วเสร็จ ได้ดำเนินงานตามแผนอีกครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2508 – 2511 มีการบูรณะในปี พ.ศ. 2508 – 2511 และในปี พ.ศ. 2524 – 2526

ในปีพ.ศ. 2537 ได้มีโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมติดที่ขึ้น โดยมีระยะการปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 – เดือนกันยายน พ.ศ. 2537

ในปีพ.ศ. 2551 ได้ดำเนินการบูรณะอีกครั้งพร้อมขุดค้นขุดตรวจทางโบราณคดีควบคู่กันไป โดยได้บูรณะพระพุทธรูปในวิหารสูงที่มีสภาพทรุดเอียงอย่างมาก ในปีเดียวกันยังได้บูรณะโบราณสถานและขุดค้นทางโบราณคดีอีกหลายแห่ง ได้แก่ การซ่อมแซมกำแพงแก้วรอบเจดีย์ห้ายอดซึ่งทรุดเอียง การขุดค้นขุดตรวจที่กำแพงวัดมหาธาตุด้านทิศใต้บางส่วน
ลักษณะทางศิลปกรรม

วัดมหาธาตุสุโขทัยตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย สภาพปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุมั่นคงถาวร เช่น อิฐ หิน ศิลาแลง พื้นที่วัดล้อมรอบด้วยแนวกำแพงสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือองค์พระมหาธาตุ ตั้งอยู่กึ่งกลางวัด เป็นเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม หรือยอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แวดล้อมด้วยเจดีย์รายแปดองค์ ด้านหน้าเป็นวิหารหลวง ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งแกนกลางของวัด

ทางทิศใต้ ตะวันตก และเหนือของแกนกลางนี้มีซากเจดีย์และซากฐานอาคารหลายหลังกระจัดกระจายอยู่ สำหรับอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านเหนือของบริเวณวัด
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. วัดมหาธาตุสุโขทัยถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญในการศึกษาคติการสร้างวัดมหาธาตุกลางเมืองในดินแดนไทย ซึ่งแพร่หลายอย่างมากนับแต่พุทธศตวรรษที่ 19-20 เป็นต้นมา

2. วัดมหาธาตุสุโขทัยมีสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก นับเป็นสถานที่สำคัญในการค้นคว้าเรื่องราวของศิลปะสุโขทัยได้

นอหกจากนี้ยังได้ค้นพบจารึกสำคัญในวัดมหาธาตุสุโขทัย ดังนี้

1. จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด พ.ศ. 1935 อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย เนื้อหาสำคัญเกี่ยวข้องกับการกระทำสัตย์สาบานของกษัตริย์สุโขทัยกับกษัตริย์น่าน

2. จารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามุณิ พ.ศ. 1919 อักษรไทยสุโขทัย-ธรรมล้านนา ภาษาไทย-บาลี เนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างวิหาร พระธาตุ และพระพุทธรูป โดยสมเด็จพระมหาเถรจุฑามุณิ

3. จารึกเจดีย์น้อย พุทธศตวรรษที่ 20-21 อักษรไทยสุโขทัย-ขอมสุโขทัย ภาษาไทย-สันสกฤต เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสบถสาบานระหว่างคนสองคน
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะสุโขทัย
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-25
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ณรงค์ โคกสันเทียะ, โครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังเร่งด่วน : การอนุรักษ์ประติมากรรมติดที่วัดมหาธาตุ (วัดร้าง) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย . กรุงเทพฯ: ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

ภาณุวัตถ์ เอื้อสามาลย์, “ขุดฐานพระ บูรณะพระประธานที่วิหารสูง วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย” ศิลปากร, 54, 5 (ก.ย. – ต.ค. 2554), 41 - 47

ศิลปากร, กรม. ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึก และศิลปกรรม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.