ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทเขาน้อย
ผังของปราสาทเขาน้อยประกอบไปด้วยอาคาร 3 หลังตั้งอยู่ในแนวเหนือใต้ ซึ่งหลังเหนือและใต้พังทลายลงเหลือเพียงหลังกลาง ปราสาททิศเหนือและปราสาทหลังกลางตั้งอยู่บนฐานอันเดียวกัน แต่ปราสาททิศเหนือสร้างยื่นล้ำออกมาข้างนอกมาก ส่วนอาคารทิศใต้ตั้งอยู่บนฐานสูงเท่ากันแต่แยกห่างออกไปเล็กน้อย มีเพียงแนวฐานอิฐด้านหลังทำมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าการวางผังก่อสร้างอาคารทั้ง 3 หลังนี้ไม่ได้สร้างให้อยู่ในแนวเดียวกัน เป็นลักษณะที่คล้ายกับการสร้างปราสาทในสมัยก่อนเมืองพระนครของเขมรซึ่งไม่ค่อยมีระเบียบนักปราสาทด้านทิศเหนือมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเข้าด้านทิศตะวันออก อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ช่องทางเข้าสร้างให้ยืดยาวออกไป ทำให้ผังของอาคารด้านนี้มีลักษณะเป็นช่องลึก ผังในห้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละด้านทำเป็นช่องเว้าเข้าไปปราสาทหลังกลางเป็นอาคารก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม้สิบสอง มีทางเข้าทางทิศตะวันออกทางเดียว อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ส่วนด้านในเป็นห้องที่มีความยาวแต่ละด้านไม่เท่ากัน ส่วนทิศใต้เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนฐานอิฐ ผังอาคารก่อสร้างเป็นผนังขึ้นไป ทางเข้าทางทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผังในอาคารก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน
สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊อกก๊อกธม
ประกอบไปด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกทางเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทประธานมีสภาพไม่สมบูรณ์ก่อด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีเสานางเรียงหรือเสานางจรัลปักอยู่โดยรอบ มีบรรณาลัยสองหลังในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานตามลำดับ อาคารทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีประตูทางเข้าหรือที่เรียกว่าโคปุระทางทิศตะวันออก ส่วนระเบียงคดด้านทิศตะวันตกปรากฏห้องยาวคั่นอยู่กึ่งกลาง ส่วนพื้นที่ระหว่างระเบียงคดและกำแพงแก้วนั้นขุดคูน้ำล้อมรอบ กำแพงแก้วนั้นก่อด้วยศิลาแลง มีโคปุระหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันออกและมีฉนวนหรือทางเดินปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อกันเป็นแนวตรงระหว่างโคปุระของระเบียงคดและโคปุระของกำแพงแก้ว มีเสานางเรียงปักตามแนวทั้งสองข้างทอดยาวไปจนถึงคันดินสระน้ำทางทิศตะวันออกนอกกำแพงแก้ว