ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปราสาทพนมวัน

คำสำคัญ : ปราสาทเขมร, ปราสาทพนมรุ้ง, ปราสาทพิมาย, ปราสาทขอม, พระศิวะ, โคปุระ, ปราสาทพนมวัน, ไศวนิกาย

ชื่อหลักปราสาทพนมวัน
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลบ้านโพธิ์
อำเภอเมือง
จังหวัดนครราชสีมา
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 15.024885
Long : 102.193972
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 P
Hemisphere : N
E : 198228.81
N : 1663018.95
ตำแหน่งงานศิลปะตั้งอยู่กึ่งกลางระเบียงคดล้อมรอบในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ประวัติการสร้าง

สร้างอุทิศถวายพระศิวะและพระวิษณุตามข้อความที่ปรากฏในจารึกกรอบประตูปราสาทประธาน

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่อด้วยหินทราย

ลักษณะทางศิลปกรรม

อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลุ่มปราสาทประธานประกอบด้วยตัวปราสาทประธาน อันตราละ และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

ปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม มีซุ้มมุขและประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ โดยมีมุขทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับอันตราละคือฉนวนหรือมุขกระสันซึ่งทำเป็นทางผ่านไปยังมณฑปที่อยู่ทางด้านหน้า มณฑปนั้นมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศเช่นเดียวกับปราสาทประธาน และมีหลังคาเป็นรูปโค้งทรงประทุน ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยแนวระเบียงคดซึ่งมีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ละมุมทั้ง 4 ของระเบียงคดยังปรากฏซุ้มทิศขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมออกมุมมีประตูทางเข้าและประตูที่เชื่อมต่อกับปีกโคปุระทั้ง 2 ด้าน

ส่วนทางทิศใต้ของปราสาทประธานในเขตระเบียงคดมีปราสาทขนาดย่อมลงมาเรียกกันว่าปรางค์น้อย มีผังแบบเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนของเรือนธาตุก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ปัจจุบันส่วนยอดได้พังทลายลงมาแล้ว องค์ปราสาทยังไม่มีการสลักลวดลายตกแต่งลงไปเป็นเพียงโครงสร้างรูปปราสาทเท่านั้น จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นสันนิษฐานว่าปรางค์น้อยนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินทราย

นอกจากนี้ภายในระเบียงคดยังพบแนวฐานอาคารอิฐหลายหลังอยู่ล้อมรอบปราสาทประธานอีกด้วย
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เป็นตัวอย่างของปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมรที่สร้างขึ้นในช่วงศิลปะแบบบาปวน รูปแบบต่างๆ เช่น แผนผัง องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การใช้หินทรายสีแดงและสีเทา จะเป็นแม่แบบให้ปราสาทพิมายซึ่งเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่ใหญ่ที่สุดในดินแดนไทย

ข้อสังเกตอื่นๆ

พื้นที่ตั้งของปราสาทพนมวัน แต่เดิมนั้นมีการพบหลักฐานการอยู่อาศัยของผู้คนมาก่อนหน้านี้แล้ว จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีแสดงให้แห็นว่าเคยใช้เป็นที่ฝั่งศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนกระทั่งต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 มีการสร้างศาสนสถานในวัฒนธรรมขอม เป็นอาคารก่ออิฐกระจายตัวอยู่ภายในระเบียงคด นอกจากนี้ยังมีการพบทับหลังในช่วงระยะเวลานี้ด้วย

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 16 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 พื้นที่นี้ได้มีการปฏิสังขรณ์ศาสนสถานขึ้นใหม่โดยสร้างปราสาท และกลุ่มอาคารอื่นๆ ด้วยหินทรายทับซ้อนในตำแหน่งเดิม แต่การก่อสร้างคงไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์เนื่องจากปราสาทยังสลักลวดลายไม่เสร็จและหินทรายบางก่อนยังไม่ได้ขัดให้เรียบ

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 สันนิษฐานว่ามีการปรับเปลี่ยนปราสาทพนมวันให้เป็นพุทธสถานแทน เพราะได้พบพระพุทธรูปในช่วงเวลานี้ด้วย
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, บาปวน
อายุปลายพุทธศตวรรษที่ 16 - ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 17
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ลัทธิ/นิกายไศวนิกาย
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพราหมณ์ไศวนิกาย
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. ปราสาทพิมาย นครราชสีมา

2. ปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์

ลักษณะแผนผังของกลุ่มปราสาทประธานเช่นที่ปราสาทพนมวันนี้เป็นแผนผังของปราสาทเขมรในศิลปะบาปวนตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เป็นต้นมา ซึ่งอาจเป็นต้นแบบของการสร้างปราสาทแห่งอื่น เช่น ปราสาทพิมายและปราสาทพนมรุ้งในระยะต่อมา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-17
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

พงศ์ธันว์ บรรทม. ปราสาทพนมวัน. กรุงเทพฯ : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา, 2544.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว.,บรรณาธิการ. ปราสาทหินและทับหลัง. กรุงเทพฯ: โครงการสืบสานมรดกและวัฒนธรรมไทย, 2542.