ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทสระกำแพงใหญ่
ปราสาทมีระเบียงคดล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ภายในระเบียงคดปรากฏอาคารจำนวน 6 หลัง คือ กลุ่มปราสาทประธาน 3 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ด้านหน้ามีบรรณาลัยในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2 ข้าง และด้านหลังยังปรากฏปราสาทอีก 1 หลัง ซึ่งตั้งเยื้องอยู่ทางด้านทิศใต้และทำให้ปราสาทมีแผนผังที่ไม่สมมาตรวัสดุที่ใช้ก่อสร้างปราสาทประธาน ประกอบด้วยหินทรายและอิฐในหลังเดียวกัน โดยส่วนที่เป็นผนังมักก่อนอิฐ ส่วนที่ใช้ในการสลักภาพ เช่น หน้าบัน ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูนั้น กลับสลักด้วยหินทราย อนึ่ง การผสมผสานกันระหว่างวัสดุ 2 ประเภทในปราสาทหลังเดียวกันนี้ ถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะขอมในดินแดนไทยเท่านั้นปราสาทประธานของปราสาทสระกำแพงใหญ่ แม้ว่าลวดลายได้มีอิทธิพลของศิลปะนครวัดเข้ามาปะปนแล้ว แต่สำหรับแผนผังและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมนั้นยังคงแสดงความเกี่ยวข้องกับปราสาทรุ่นเก่าอยู่ เช่น การไม่มีมณฑปยาว มีแต่เพียงมุขสั้นๆ เป็นต้น ปราสาทด้านหลังปราสาทประธานนั้นเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่นอกแผนผังที่สมมาตร กล่าวคือ เป็นปราสาทเพียงหลังเดียวที่ตั้งอยู่ด้านหลังปราสาท 3 องค์ด้นหน้า และตั้งเยื้องไปทางทิศใต้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องด้วยคติใดและอุทิศให้กับเทพหรือเทพีองค์ใด อย่างไรก็ตาม ย่อมแสดงให้เห็นความเป็นพื้นเมืองของปราสาทขอมในดินแดนไทยที่อาจสร้างปราสาทแบบไม่สมมาตรได้
สถาปัตยกรรมปราสาทศีขรภูมิ
ประกอบด้วยปราสาทอิฐจำนวน 5 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาทประธานมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะที่อีก 4 หลังตั้งอยู่ที่มุม ทั้ง 4 ปราสาทล้อมรอบด้วยคูน้ำยกเว้นทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในพุทธศตวรษที่ 17 ซึ่งตรงกับศิลปะร่วมแบบนครวัด โดยสามารถกำหนดอายุได้จากลวดลายบนกรอบประตูและทับหลังของปราสาทประธาน อย่างไรก็ดี ปราสาทแห่งนี้ยังคงสร้างด้วยอิฐ อันแตกต่างไปจากปราสาทสมัยนครวัดในประเทศกัมพูชาที่นิยมสร้างด้วยหินทรายเสมอแผนผังของปราสาทศรีขรภูมิ มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทหลังอื่นๆในประเทศไทย เนื่องจากเป็นปราสาท 5 หลังที่ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน โดยปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลางและล้อมรอบไปด้วปราสาทบริวารอีก 4 มุม ลักษระเช่นนี้แตตก่งไปจากปราสาทที่พบในประทศไทยโดยทั่วไปที่มักเป็นปราสาท 3 หลังเรียงกันอยู่บนฐานไพทีปราสาทประธานของปราสาทศีขรภูมิ รวมถึงปราสาทหลังอื่นๆ มีลักษณะเป็นปราสาทเดี่ยวที่ไม่มีการต่อเชื่อมมณฑป ส่วนที่เป็นผนังเรียบๆ มักใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก ส่วนที่ต้องสลัก เช่น ทับหลัง เสาประดับกรอบประตูและเสากรอบประตู มักใช้หินทรายในการสลัก การปะปนกันของวัสดุสองประเภทนี้ ปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และถือเป็นลักษณะพื้นเมืองของปราสาทขอมในดินแดนไทยเอง เนื่องจากปราสาทสมัยนครวัดในประเทศกัมพูชาย่อมสลักด้วยหินทรายเสมอ เนื่องจากปราสาทประธานปรากฏทับหลังรูปศิวนาฏราช จึงเป็นไปได้สูงที่ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย ปราสาททั้งห้าหลังนี้จึงอาจเคยประดิษฐานศิวลึงค์อันเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะก็ได้ ในระยะหลัง ปราสาทแห่งนี้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาเถรวาทโดยชาวลาวที่อพยพเข้ามาภายหลัง หลักฐานที่สำคัญได้แก่จารึกกรอบประตูและการซ่อมแปลงยอดของปราสาทบริวารหลังตะวันตกเฉียงใต้มีลักษณะคล้ายพระธาตุศิลปะล้านช้างในพุทธศาสนา มีการก่อยอดขึ้นไปใหม่เลียนแบบยอดปราสาทในศิลปะขอมแต่มีรูปแบบแตกต่างไปจากต้นแบบอย่างชัดเจน ส่วนกลีบขนุนก็มีการนำขึ้นไปจัดเรียงใหม่ด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทบ้านพลวง
เป็นปราสาทขนาดเล็กหลังเดียวสร้างจากหินทราย ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปกากบาทขนาดใหญ่ที่สร้างจากศิลาแลง การที่ฐานศิลาแลงนี้มีปีก 2 ข้างซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวปราสาทมากจึงทำให้คิดไปได้ว่าอาจเคยมีแผนในการสร้างปราสาทบริวารด้วย แต่ปัจจบันไม่ปรากฏแล้ว โดยที่ไม่ทราบว่าเนื่องจากปราสาทดังกล่าวไม่เคยสร้างเสร็จ หรือเคยเป็นไม้จึงได้สูญหายไปหมดแล้วปราสาทหลังนี้เป็นตัวอย่างปราสาทขนาดเล็กที่มีภาพสลักที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ประตูหลักอยู่ทางทิศตะวันออกในขณะที่อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ตัวปราสาทมีภาพสลักในศิลปะร่วมแบบบาปวนอย่างงดงามทั้งบนทับหลังและหน้าบันอันทำให้พอกำหนดอายุได้ว่าอาจมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 สำหรับยอดของปราสาทนั้นอาจเป็นไปได้ที่เคยก่อด้วยอิฐมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปจึงสูญหายไปตามกาลเวลาทับหลังของปราสาทหลังนี้มักประกอบด้วยหน้ากาลแลบลิ้นสามเหลี่ยมคายท่อนพวงมาลัยตามแบบบาปวนโดยทั่วไป บางครั้งทับหลังก็มีพวงอุบะมาแบ่งตรงเสี้ยว บางครั้งก็ไม่มีซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นการพิสูจน์ว่าทับหลังแบบมีเสี้ยวและไม่มีเสี้ยวนั้นได้รับความนิยมในระยะร่วมสมัยกันส่วนหน้าบันนั้นมีลักษณะเป็นแบบบาปวนโดยทั่วไปเช่นกัน กล่าวคือ มีกรอบหน้าบันเป็นรูปก้านต่อดอกหันหัวลง มีนาคที่มีกระบังหน้า ภายในหน้าบันประกอบด้วยลายพรรณพฤกษาที่มีหน้ากาลคายอยู่เบื้องล่าง อนึ่ง เนื่องจากนาคปลายกรอบหน้าบันเริ่มมีกระบังหน้าแล้ว จึงอาจเป็นไปได้ที่ปราสาทหลังนี้คงมีอายุอยู่ในสมัยบาปวนตอนปลาย และอาจมีอายุหลังจากปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเมืองต่ำเล็กน้อย ทั้งหน้าบันและทับหลังของปราสาทหลังนี้ แสดงภาพพระกฤษณะในตอนต่างๆ เช่น กฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ และกฤษณะปราบนาคกาลียะ นอกจากนี้ยังปรากฏภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในหลายจุดอีกด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทตาเมือนธม
ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง 3 องค์ ประกอบด้วยปราสาทประธานขนาดใหญ่ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ภายในห้องกลางปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ลักษณะของศิวลึงค์นี้ตกแต่งจากแท่งหินทรายธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้มาแต่เดิม ภายหลังจึงสร้างปราสาทครอบ สันนิษฐานว่านี้น่าจะเป็นศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเอง เรียกว่า “สวายัมภูลึงค์” ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิไศวนิกาย ตัวปราสาทมีซุ้มประตู 4 ทิศ ประตูมุขด้านทิศใต้ต่อเข้ากับมุขหน้าหรือมณฑปยื่นออกมา โดยแบ่งเป็น 3 คูหา หลังคาทำด้วยหินทราย ปราสาทประธานมีการสลักลวดลายที่บริเวณฐาน โดยสลักเป็นรูปเทวรูปยืน นอกจากนี้ยังพบทับหลังหินทรายสลักภาพเทวดานั่งชันเข่าอยู่ภายในซุ้มบนแท่นเหนือหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัยปราสาทบริวาร หรือ ปรางค์น้อยมี 2 องค์ สร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องไปทางซ้ายและขวาของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีซุ้มประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศใต้ ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอกบรรณาลัย จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยศิลาแลง หลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสปราสาทประธาน ปรางค์บริวาร และบรรณาลัย มีระเบียงคดล้อมรอบ ซุ้มประตูหรือโคปุระสร้างด้วยหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช่องทางเดินภายในกว้างประมาณ 1.40 เมตร มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน โดยซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตก มีลักษณะเหมือนกัน ส่วนซุ้มประตูด้านทิศใต้จะมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นซุ้มประตูหลัก โดยแบ่งออกเป็น 3 คูหา คูหากลางมีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีหน้าต่างติดลูกกรงหินและบริเวณระเบียงคดนี้ได้พบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 มีเนื้อหากล่าวสรรเสริญพระศิวะและกล่าวถึงนามของทาสและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาเทวสถานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังพบท่าน้ำสร้างด้วยหินทรายนอกระเบียงคดด้านทิศใต้ ห่างออกไปประมาณ 10 เมตร และสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงก้นสระ อยู่บริเวณนอกระเบียงคดทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองแขก
ปราสาทเมืองแขกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ก่อด้วยหินทรายและอิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ สิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง ระเบียงคด ซุ้มประตูหรือโคปุระ กำแพงแก้ว สระน้ำ และปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็กลักษณะผังโบราณสถานแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 หรือส่วนในสุด ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยหินทรายและอิฐตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หัวหน้าไปทางทิศเหนือ เฉพาะองค์ปรางค์หรือปราสาทประธานมีมุขหรือมณฑปซึ่งมีลักษณะเป็นห้องต่อออกมาทางด้านหน้า มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง พบฐานประติมากรรมหินทรายที่ครรภคฤหะของปราสาทประธานและปราสาทหลังด้านทิศตะวันออก อาคารทั้งสามหลังเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐานและตัวอาคารบางส่วน รวมทั้งที่ปราสาทประธานยังคงหลงเหลือช่องหน้าต่างและลูกมะหวด เสาประดับกรอบประตู กรอบประตูหินทราย และทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ด้านบนกรอบประตูหน้าสุดหรือส่วนมณฑปด้านข้างองค์ปรางค์ประธานมีฐานอาคารก่อด้วยอิฐ 2 หลัง อยู่ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันด้านหน้าเข้าสู่ปราสาทประธาน อาจเป็นวิหารหรือบรรณาลัย ในส่วนแรกนี้มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของกำแพงมีอาคารอิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อขนานยาวไปกับกำแพง อาคารหลังนี้มีประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ ยังคงหลงเหลือเสาประดับกรอบประตูอยู่ที่ประตูด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระชั้นในอยู่ด้านเดียวคือด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ (มีช่องประตู 3 ช่อง) ที่ยังคงหลงเหลือกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตูหินทราย นอกจากนี้ยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยอิฐอีก 2 หลังที่มุมกำแพงแก้วด้านหน้าของปราสาทประธาน ข้างโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นในด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือทั้ง 2 ด้าน ซ้ายและขวา โดยอาคารด้านขวามีทางเดินปูอิฐเชื่อมกับอาคารยาวที่ขนานไปกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกส่วนที่ 2 เป็นกำแพงชั้นนอก ซึ่งขุดเป็นสระเกือบจะล้อมรอบโบราณสถาน เว้นเพียงส่วนกลางด้านหน้า โดยใช้ดินที่ได้จากการขุดสระทำเป็นคันกำแพงล้อมรอบกำแพงแก้วและสระน้ำ ทางด้านทิศเหนือมีทางเดินเชื่อมกับส่วนในหรือส่วนที่หนึ่ง กำแพงชั้นนอกด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูขนาดใหญ่หรือโคปุระชั้นนอกรูปกากบาท ตรงกับโคปุระชั้นใน (มีช่องประตู 3 ช่อง) ยังคงปรากฏช่องหน้าต่างและลูกมะหวดรวมทั้งกรอบประตูหินทรายส่วนที่ 3 อยู่นอกกำแพงชั้นนอกหรือส่วนที่สองออกมาทางด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ มีฐานอาคารก่อด้วยฐานก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และอิฐ 2 หลัง ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันหน้าเข้าหากัน (อาคารหลังด้านขวาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนอาคารหลังด้านซ้ายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ส่วนบนอาจจะสร้างด้วยไม้ ฐานอาคารทั้งสองหลังมีผังเป็นสี่เหลี่ยมมีมุขยื่นมาทางด้านหน้า ฐานสูง มีบันไดขึ้นสู่ด้านบนของฐานทั้ง 4 ด้าน มีกำแพงล้อมรอบ มีโคปุระที่ด้านหน้าและหลัง (ด้านหน้ามีขนาดใหญ่กว่า) ภายในห้องประธานของอาคารหลังด้านทิศตะวันตกมีฐานศิวลึงค์และโยนีหินทรายตั้งอยู่กลางห้อง เช่นเดียวกับอาคารหลังด้านทิศตะวันออกที่มีฐานประติมากรรมหินทรายตั้งอยู่กลางห้องประธาน จากการขุดค้นที่พบหลักฐานสำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ฐานศิวลึงค์ หน้าบันสลักภาพอุมามเหศวร ทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้มเหนือหน้ากาล ประติมากรรมโคนนทิ และจารึก 3 หลัก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าศาสนสถานหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะร่วมแบบเกาะแกร์-แปรรูป ส่วนจารึกระบุมหาศักราช 896 ตรงกับ พ.ศ.1517
สถาปัตยกรรมโบราณสถานดงเมืองเตย
ปัจจุบันเหลือเพียงฐานอาคาร ก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอาคารประกอบด้วยฐานเขียง 4 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวอันประกอบด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีลวดลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนกัน 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงาย ซึ่งเรียกว่าบัวรวน และหน้ากระดานบนอาคารหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 และ 2 มีการก่ออิฐเป็นแนวยื่นออกมาทางทิศตะวันออก และมีการย่อมุมโดยฐานเขียงชั้นที่ 1 ย่อมุม 3 ช่วง ฐานเขียงชั้นที่ 2 ย่อมุม 2 ช่วง บริเวณริมทั้ง 2 มีร่องรอยของหลุมเสากลม โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 มีรอยหลุมเสา 2 คู่ ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีรอยหลุมเสา 1 คู่ทางด้านเหนือและตะวันออกของด้านข้างของฐานเขียงชั้นที่ 1 ที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออก มีลวดลายช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่เรียงกัน 1 แถวบริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันออกติดกับฐานเขียงชั้นที่ 1 มีอัฒจันทร์ก่อเป็นรูปปีกกา 1 ชั้น ต่อจากอัฒจันทร์มีการก่ออิฐเป็นลายทางเดินด้านหน้า ยาวประมาณ 28 เมตร ช่วงระหว่างกลางลานด้านหน้ามีการก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลายชั้น ตรงกลางจะสูงกว่าส่วนอื่น รายละเอียดส่วนฐานของโบราณสถานดงเมืองเตยที่กล่าวมานี้จึงมีลักษณะร่วมสามารถเทียบได้กับฐานของโบราณสถานในเมืองสมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา และฐานเรือนธาตุของเจดีย์จุลประโทน นครปฐม ซึ่งเป็นโบราณสถานในศิลปะทวารวดี
สถาปัตยกรรมปรางค์ศรีเทพ
โบราณสถานปรางค์ศรีเทพประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย โคปุระ กำแพง ชานชาลาหรือทางเดินรูปกากบาท สะพานนาค และอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทอดยาวขนานกับสะพานนาคปราสาทประธานเป็นปราสาทอิฐในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟักสองชั้นก่อด้วยศิลาแลง ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่เหลืออีกสามด้านเป็นประตูหลอก ภายในของประตูหลอกทำเป็นช่องหรือซุ้มที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพปัจจุบันตัวปราสาทไม่เหลือร่องรอยหรือชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม เดิมคงมีหลังคาเครื่องไม้คลุมที่ด้านหน้าอาคารเนื่องจากที่พื้นของฐานบัวลูกฟักชั้นล่างพบร่องรอยหลุมเสากลมขนาดใหญ่ และกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบในบริเวณปรางค์ศรีเทพได้แก่ เทวรูปพระอิศวร 4 กร จึงกำหนดอายุปรางค์ศรีเทพอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17
สถาปัตยกรรมปรางค์สองพี่น้อง
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทเขมร ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน มีร่องรอยปูนฉาบที่ผนังด้านนอก แผนผังประกอบด้วยปราสาทสองหลังตั้งอยู่ใกล้กันในแนวเหนือ-ใต้บนฐานไพทีเดียวกัน ปราสาททั้งสองหลังหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยปราสาทหลังใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทองค์เล็กในแผนผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นช่องประตูทางเข้า อีกสามด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ที่ด้านหน้ามุขปราสาทมีฐานศิลาแลงรูปกากบาท ส่วนหลังคาพังทลายจนไม่เห็นรูปทรง แต่จากการขุดแต่งพบกลีบมะเฟืองประดับหลังคาสลักจากศิลาแลง จึงสันนิษฐานว่าส่วนบนคงทำเป็นเรือนซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยนาคปักจนถึงส่วนยอดที่เป็นกลศ รูปทรงโดยรวมของส่วนบนคงเป็นทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทหินพิมายหรือพนมรุ้ง อันเป็นพัฒนาการของปราสาทเขมรที่สำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16ปราสาทหลังเล็กทางด้านทิศใต้ แต่เดิมเหลือเพียงส่วนของเรือนธาตุช่วงล่างแต่ได้ซ่อมแซมต่อเติมขึ้นไปเพื่อติดตั้งทับหลังที่พบในบริเวณเดียวกัน วัสดุ และรูปทรงโดยรวมเหมือนกับปราสาทองค์ใหญ่ แต่ได้ลดความซับซ้อนของส่วนฐานและการซ้อนชั้นของเรือนธาตุลง และไม่ได้ก่อมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบบริเวณปรางค์สองพี่น้อง ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานโยนิ และโคนนทิ ฝังอยู่ใต้ดินในระดับฐานอาคาร จึงสันนิษฐานว่าเดิมปรางค์สองพี่น้องคงเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย ซึ่งอาจกำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 จากทับหลังและเสาประดับกรอบประตูรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวนที่พบจากการขุดแต่ง