ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 4 จาก 4 รายการ, 1 หน้า
ปรางค์ศรีเทพ
เพชรบูรณ์
สถาปัตยกรรมปรางค์ศรีเทพ

โบราณสถานปรางค์ศรีเทพประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย โคปุระ กำแพง ชานชาลาหรือทางเดินรูปกากบาท สะพานนาค และอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทอดยาวขนานกับสะพานนาคปราสาทประธานเป็นปราสาทอิฐในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟักสองชั้นก่อด้วยศิลาแลง ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่เหลืออีกสามด้านเป็นประตูหลอก ภายในของประตูหลอกทำเป็นช่องหรือซุ้มที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพปัจจุบันตัวปราสาทไม่เหลือร่องรอยหรือชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม เดิมคงมีหลังคาเครื่องไม้คลุมที่ด้านหน้าอาคารเนื่องจากที่พื้นของฐานบัวลูกฟักชั้นล่างพบร่องรอยหลุมเสากลมขนาดใหญ่ และกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบในบริเวณปรางค์ศรีเทพได้แก่ เทวรูปพระอิศวร 4 กร จึงกำหนดอายุปรางค์ศรีเทพอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17

ปรางค์สองพี่น้อง
เพชรบูรณ์
สถาปัตยกรรมปรางค์สองพี่น้อง

รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทเขมร ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน มีร่องรอยปูนฉาบที่ผนังด้านนอก แผนผังประกอบด้วยปราสาทสองหลังตั้งอยู่ใกล้กันในแนวเหนือ-ใต้บนฐานไพทีเดียวกัน ปราสาททั้งสองหลังหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยปราสาทหลังใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทองค์เล็กในแผนผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นช่องประตูทางเข้า อีกสามด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ที่ด้านหน้ามุขปราสาทมีฐานศิลาแลงรูปกากบาท ส่วนหลังคาพังทลายจนไม่เห็นรูปทรง แต่จากการขุดแต่งพบกลีบมะเฟืองประดับหลังคาสลักจากศิลาแลง จึงสันนิษฐานว่าส่วนบนคงทำเป็นเรือนซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยนาคปักจนถึงส่วนยอดที่เป็นกลศ รูปทรงโดยรวมของส่วนบนคงเป็นทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทหินพิมายหรือพนมรุ้ง อันเป็นพัฒนาการของปราสาทเขมรที่สำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16ปราสาทหลังเล็กทางด้านทิศใต้ แต่เดิมเหลือเพียงส่วนของเรือนธาตุช่วงล่างแต่ได้ซ่อมแซมต่อเติมขึ้นไปเพื่อติดตั้งทับหลังที่พบในบริเวณเดียวกัน วัสดุ และรูปทรงโดยรวมเหมือนกับปราสาทองค์ใหญ่ แต่ได้ลดความซับซ้อนของส่วนฐานและการซ้อนชั้นของเรือนธาตุลง และไม่ได้ก่อมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบบริเวณปรางค์สองพี่น้อง ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานโยนิ และโคนนทิ ฝังอยู่ใต้ดินในระดับฐานอาคาร จึงสันนิษฐานว่าเดิมปรางค์สองพี่น้องคงเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย ซึ่งอาจกำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 จากทับหลังและเสาประดับกรอบประตูรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวนที่พบจากการขุดแต่ง

เขาคลังนอก
เพชรบูรณ์
สถาปัตยกรรมเขาคลังนอก

เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ไม่มีปูนฉาบหรือปูนปั้นประดับ เฉพาะองค์เจดีย์ประธานที่ตั้งอยู่บนลานยอดเท่านั้นที่ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักเขาคลังนอกมีลักษณะเป็นฐานขนาดใหญ่ซ้อนชั้นกัน บนลานยอดสุดมีเจดีย์ 1 องค์ แผนผังของฐานขนาดใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ 5 เก็จ โดยแต่ละด้านจะประกอบด้วยเก็จกึ่งกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เก็จที่ขนาบเก็จกึ่งกลางมี 2 เก็จขนาดเล็กที่สุด และเก็จที่มุม 2 เก็จ ทุกด้านมีแนวบันไดทางขึ้นสู่ลานยอดพาดผ่านจากเก็จใหญ่ที่กึ่งกลาง ผนังของฐานมีลวดบัวหลายเส้นซ้อนลดหลั่นกัน โดยลวดบัวสำคัญที่แสดงถึงความเป็นศิลปะทวารวดี ได้แก่ บัววลัย หรือกลศ นอกจากนี้ยังประดับตกแต่งผนังของฐานด้วยวิมานหรือปราสาทจำลอง แต่ละด้านมีวิมาน 8 หลังประดับอยู่ที่เก็จขนาบเก็จกึ่งกลาง เก็จมุม และผนังระหว่างเก็จ รูปแบบของลวดบัวทำหนึกถึงลวดบัวในศิลปะปาละตอนต้น ในขณะที่วิมานทำให้นึกถึงศิลปะโจฬะตอนต้น ลานยอดมีเจดีย์ก่ออิฐ 1 องค์ สร้างด้วยอิฐแบบทวารวดีที่ผสมแกลบข้าวในเนื้ออิฐค่อนข้างมาก สภาพปรักหักพังจนศึกษารายละเอียดได้ลำบาก มีแนวหลุมเสากลมล้อมรอบเจดีย์แสดงว่าครั้งหนึ่งเคยมีหลังคาคลุมลานยอดนี้

เขาคลังใน
เพชรบูรณ์
สถาปัตยกรรมเขาคลังใน

เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ศิลาแลง แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ มีบันไดทางขึ้นสู่ลานด้านบนทางทิศตะวันออกสภาพปัจจุบันปรักหักพังมาก หลักฐานที่เหลืออยู่เป็นเพียงส่วนฐานขนาดใหญ่ ไม่ทราบส่วนยอดที่แท้ตั้งหรือรูปแบบอาคารบนลานด้านบนว่าเป็นอย่างไร พบงานปูนปั้นประดับส่วนฐานบ้าง โดยเฉพาะทางด้านใต้ โดยปั้นเป็นรูปคนแคระแบกและพรรณพฤกษา