ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขาคลังนอก
คำสำคัญ : เจดีย์, เขาคลังนอก
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | เขาคลังนอก |
ชื่ออื่น | - |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ศรีเทพ |
อำเภอ | ศรีเทพ |
จังหวัด | เพชรบูรณ์ |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 15.486812 Long : 101.144482 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 730064.44 N : 1713320.83 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ทิศเหนือของเมืองศรีเทพ |
ประวัติการสร้าง | ไม่พบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียแบบปาละตอนต้นและโจฬะตอนต้น และมหาสถูปบุโรพุทโธ ทำให้กำหนดอายุเขาคลังนอกไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 80 ตอนที่ 29 วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2506 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ได้ดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานเขาคลังนอก โดยเริ่มโครงการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 สภาพก่อนการดำเนินงานทางโบราณคดีมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ มีเศษอิฐและศิลาแลงกระจายอยู่ทั่วไป บริเวณด้านบนมีร่องรอยการลักขุดขนาดใหญ่เป็นโพรงลึกลงไปเห็นโครงสร้างภายใน |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ไม่มีปูนฉาบหรือปูนปั้นประดับ เฉพาะองค์เจดีย์ประธานที่ตั้งอยู่บนลานยอดเท่านั้นที่ใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก เขาคลังนอกมีลักษณะเป็นฐานขนาดใหญ่ซ้อนชั้นกัน บนลานยอดสุดมีเจดีย์ 1 องค์ แผนผังของฐานขนาดใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ 5 เก็จ โดยแต่ละด้านจะประกอบด้วยเก็จกึ่งกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เก็จที่ขนาบเก็จกึ่งกลางมี 2 เก็จขนาดเล็กที่สุด และเก็จที่มุม 2 เก็จ ทุกด้านมีแนวบันไดทางขึ้นสู่ลานยอดพาดผ่านจากเก็จใหญ่ที่กึ่งกลาง ผนังของฐานมีลวดบัวหลายเส้นซ้อนลดหลั่นกัน โดยลวดบัวสำคัญที่แสดงถึงความเป็นศิลปะทวารวดี ได้แก่ บัววลัย หรือกลศ นอกจากนี้ยังประดับตกแต่งผนังของฐานด้วยวิมานหรือปราสาทจำลอง แต่ละด้านมีวิมาน 8 หลังประดับอยู่ที่เก็จขนาบเก็จกึ่งกลาง เก็จมุม และผนังระหว่างเก็จ รูปแบบของลวดบัวทำหนึกถึงลวดบัวในศิลปะปาละตอนต้น ในขณะที่วิมานทำให้นึกถึงศิลปะโจฬะตอนต้น ลานยอดมีเจดีย์ก่ออิฐ 1 องค์ สร้างด้วยอิฐแบบทวารวดีที่ผสมแกลบข้าวในเนื้ออิฐค่อนข้างมาก สภาพปรักหักพังจนศึกษารายละเอียดได้ลำบาก มีแนวหลุมเสากลมล้อมรอบเจดีย์แสดงว่าครั้งหนึ่งเคยมีหลังคาคลุมลานยอดนี้ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เขาคลังนอกเป็นเจดีย์สมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่หลงเหลือให้ศึกษาได้ในปัจจุบัน เป็นหลักฐานแสดงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา และสะท้อนถึงความเจริญของเมืองโบราณศรีเทพ นอกจากนี้รูปแบบทางศิลปกรรมของเขาคลังนอกยังสะท้อนถึงแรงบันดาลใจจากหลากหลายที่มา เช่น ศิลปะปาละ ศิลปะโจฬะ ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวทวารวดีนำมาประยุกต์ใช้จนเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตน |
ข้อสังเกตอื่นๆ | เขาคลังนอกไม่ใช่ชื่อเดิมของศาสนสถานหลังนี้ แต่เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกขาน เนื่อจากในอดีตมีสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ เป็นที่มาของคำว่า “เขา” นอกจากนี้ยังเชื่อว่าภายในมีสมบัติฝังอยู่ เป็นที่มาของคำว่า “คลัง” และตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ เป็นที่มาของคำว่า “นอก” รวมเป็น เขาคลังนอก |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ทวารวดี |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 14-15 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-10-14 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | เชษฐ์ ติงสัญชลี, “เขาคลังนอกและประเด็นความเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมอินเดีย”เมืองโบราณ, ปีที่ 35, ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2552), หน้า 118-127. ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์, “เขาคลังนอก มหาสถูปแห่งศรีเทพ,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29, ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2551), หน้า 41 – 43. ศิลปากร,กรม. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. |