ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

โบราณสถานดงเมืองเตย

คำสำคัญ : เจดีย์จุลประโทน, สมโบร์ไพรกุก, ดงเมืองเตย, ดอนเมืองเตย, โบราณสถานดอนเมืองเตย, เมืองโบราณดงเมืองเตย, เมืองโบราณดอนเมืองเตย

ชื่อเรียกอื่นดอนเมืองเตย
ชื่อหลักเมืองโบราณดงเมืองเตย
ชื่ออื่นเมืองโบราณดอนเมืองเตย
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลสงเปือย
อำเภอคำเขื่อนแก้ว
จังหวัดยโสธร
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 15.639911
Long : 104.258093
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 P
Hemisphere : N
E : 420487.51
N : 1729220.35
ตำแหน่งงานศิลปะตั้งอยู่บริเวณทางตะวันออกของเมืองโบราณดงเมืองเตย

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐไม่สอปูน

ประวัติการอนุรักษ์

ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479

ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 5.5 เมตร สูง 1.7 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

ปัจจุบันเหลือเพียงฐานอาคาร ก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอาคารประกอบด้วยฐานเขียง 4 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวอันประกอบด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีลวดลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนกัน 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงาย ซึ่งเรียกว่าบัวรวน และหน้ากระดานบน

อาคารหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 และ 2 มีการก่ออิฐเป็นแนวยื่นออกมาทางทิศตะวันออก และมีการย่อมุมโดยฐานเขียงชั้นที่ 1 ย่อมุม 3 ช่วง ฐานเขียงชั้นที่ 2 ย่อมุม 2 ช่วง บริเวณริมทั้ง 2 มีร่องรอยของหลุมเสากลม โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 มีรอยหลุมเสา 2 คู่ ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีรอยหลุมเสา 1 คู่

ทางด้านเหนือและตะวันออกของด้านข้างของฐานเขียงชั้นที่ 1 ที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออก มีลวดลายช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่เรียงกัน 1 แถว

บริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันออกติดกับฐานเขียงชั้นที่ 1 มีอัฒจันทร์ก่อเป็นรูปปีกกา 1 ชั้น ต่อจากอัฒจันทร์มีการก่ออิฐเป็นลายทางเดินด้านหน้า ยาวประมาณ 28 เมตร ช่วงระหว่างกลางลานด้านหน้ามีการก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลายชั้น ตรงกลางจะสูงกว่าส่วนอื่น

รายละเอียดส่วนฐานของโบราณสถานดงเมืองเตยที่กล่าวมานี้จึงมีลักษณะร่วมสามารถเทียบได้กับฐานของโบราณสถานในเมืองสมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา และฐานเรือนธาตุของเจดีย์จุลประโทน นครปฐม ซึ่งเป็นโบราณสถานในศิลปะทวารวดี
สกุลช่างร่วมแบบสมโบร์ไพรกุก
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เป็นตัวอย่างศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรที่เก่าแก่ที่สุดตัวอย่างหนึ่งที่พบในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าดินแดนไทย โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนหนึ่งของภาคอีสานมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรมาแล้วตั้งแต่ระยะต้นของสมัยก่อนเมืองพระนคร

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, ร่วมแบบสมโบร์ไพรกุก
อายุกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ลัทธิ/นิกายไศวนิกาย
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพราหมณ์ไศวนิกาย
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

เจดีย์จุลประโทน นครปฐม

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-05
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สมเดช ลีลามโนธรรม. การศึกษาการพัฒนาการของชุมชนเมืองโบราณดงเมืองเตย บ้านสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร. สารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538.