ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมโบราณสถานดงเมืองเตย
ปัจจุบันเหลือเพียงฐานอาคาร ก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอาคารประกอบด้วยฐานเขียง 4 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวอันประกอบด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีลวดลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนกัน 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงาย ซึ่งเรียกว่าบัวรวน และหน้ากระดานบนอาคารหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 และ 2 มีการก่ออิฐเป็นแนวยื่นออกมาทางทิศตะวันออก และมีการย่อมุมโดยฐานเขียงชั้นที่ 1 ย่อมุม 3 ช่วง ฐานเขียงชั้นที่ 2 ย่อมุม 2 ช่วง บริเวณริมทั้ง 2 มีร่องรอยของหลุมเสากลม โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 มีรอยหลุมเสา 2 คู่ ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีรอยหลุมเสา 1 คู่ทางด้านเหนือและตะวันออกของด้านข้างของฐานเขียงชั้นที่ 1 ที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออก มีลวดลายช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่เรียงกัน 1 แถวบริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันออกติดกับฐานเขียงชั้นที่ 1 มีอัฒจันทร์ก่อเป็นรูปปีกกา 1 ชั้น ต่อจากอัฒจันทร์มีการก่ออิฐเป็นลายทางเดินด้านหน้า ยาวประมาณ 28 เมตร ช่วงระหว่างกลางลานด้านหน้ามีการก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลายชั้น ตรงกลางจะสูงกว่าส่วนอื่น รายละเอียดส่วนฐานของโบราณสถานดงเมืองเตยที่กล่าวมานี้จึงมีลักษณะร่วมสามารถเทียบได้กับฐานของโบราณสถานในเมืองสมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา และฐานเรือนธาตุของเจดีย์จุลประโทน นครปฐม ซึ่งเป็นโบราณสถานในศิลปะทวารวดี
ประติมากรรมทับหลังจากปราสาทเขาน้อยหลังกลาง
การสลักเป็นรูปมกรสองตัวที่ปลายขอบทั้งสองข้างหันหน้าเข้าภายในคายวงโค้งออกมาสี่วง เหมือมกรมีรูปบุคคลขี่เบื้องบนกับเบื้องล่างของมกรมีฐานมารองรับ บริเวณกึ่งกลางและที่เสี้ยวที่ลายวงโค้งมาบรรจบกันปรากฏลายวงรูปไข่หรือวงรูปเหรียญสามวง ที่ขอบวงโค้งทั้งสี่วงมีลายประคำประดับอยู่โดยรอบ ส่วนที่ขอบของลายวงรูปเหรียญมีทั้งลายลูกประคำและลายใบไม้ม้วนประกอบอยู่ ภายในวงรูปเหรียญมีรูปเทวดาทรงพาหนะวงละหนึ่งองค์ ในขณะที่ภายในลายวงโค้งสองวงกลางมีลายดอกไม้สี่กลีบประดับอยู่ เหนือลายวงโค้งมีลายใบไม้ตั้งขึ้น ส่วนเบื้องล่างของลายวงโค้งสลักเป็นลายพวงมาลัยสลับกับพวงอุบะ ภายในลายพวงมาลัยมีลายใบไม้แหลมหยักอยู่พวงละหนึ่งใบ ส่วนพวงอุบะล้วนมีขนาดเท่ากันหมดทุกพวง รายละเอียดที่กล่าวมานี้สามารถเปรียบเทียบได้จากทับหลังปราสาทสมโบร์ไพรกุกหมู่ใต้ หลังที่ 7