ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปราสาทบ้านพลวง
คำสำคัญ : พระศิวะ, บาปวน, ปราสาทนารายณ์เจงเวง , ปราสาทตาเมือนธม, ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ชื่อหลัก | ปราสาทบ้านพลวง |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | บ้านพลวง |
อำเภอ | ปราสาท |
จังหวัด | สุรินทร์ |
ภาค | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 14.610251 Long : 103.424447 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 48 P Hemisphere : N E : 330252.19 N : 1615807.13 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ปราสาทหลังเดียวหันหน้าไปทางทิศตะวันออก |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ตัวปราสาทสร้างจากหินทรายตั้งอยู่บนฐานที่สร้างจากศิลาแลง |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เป็นปราสาทขนาดเล็กหลังเดียวสร้างจากหินทราย ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปกากบาทขนาดใหญ่ที่สร้างจากศิลาแลง การที่ฐานศิลาแลงนี้มีปีก 2 ข้างซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวปราสาทมากจึงทำให้คิดไปได้ว่าอาจเคยมีแผนในการสร้างปราสาทบริวารด้วย แต่ปัจจบันไม่ปรากฏแล้ว โดยที่ไม่ทราบว่าเนื่องจากปราสาทดังกล่าวไม่เคยสร้างเสร็จ หรือเคยเป็นไม้จึงได้สูญหายไปหมดแล้ว ปราสาทหลังนี้เป็นตัวอย่างปราสาทขนาดเล็กที่มีภาพสลักที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ประตูหลักอยู่ทางทิศตะวันออกในขณะที่อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ตัวปราสาทมีภาพสลักในศิลปะร่วมแบบบาปวนอย่างงดงามทั้งบนทับหลังและหน้าบันอันทำให้พอกำหนดอายุได้ว่าอาจมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 สำหรับยอดของปราสาทนั้นอาจเป็นไปได้ที่เคยก่อด้วยอิฐมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปจึงสูญหายไปตามกาลเวลา ทับหลังของปราสาทหลังนี้มักประกอบด้วยหน้ากาลแลบลิ้นสามเหลี่ยมคายท่อนพวงมาลัยตามแบบบาปวนโดยทั่วไป บางครั้งทับหลังก็มีพวงอุบะมาแบ่งตรงเสี้ยว บางครั้งก็ไม่มีซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นการพิสูจน์ว่าทับหลังแบบมีเสี้ยวและไม่มีเสี้ยวนั้นได้รับความนิยมในระยะร่วมสมัยกัน ส่วนหน้าบันนั้นมีลักษณะเป็นแบบบาปวนโดยทั่วไปเช่นกัน กล่าวคือ มีกรอบหน้าบันเป็นรูปก้านต่อดอกหันหัวลง มีนาคที่มีกระบังหน้า ภายในหน้าบันประกอบด้วยลายพรรณพฤกษาที่มีหน้ากาลคายอยู่เบื้องล่าง อนึ่ง เนื่องจากนาคปลายกรอบหน้าบันเริ่มมีกระบังหน้าแล้ว จึงอาจเป็นไปได้ที่ปราสาทหลังนี้คงมีอายุอยู่ในสมัยบาปวนตอนปลาย และอาจมีอายุหลังจากปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเมืองต่ำเล็กน้อย ทั้งหน้าบันและทับหลังของปราสาทหลังนี้ แสดงภาพพระกฤษณะในตอนต่างๆ เช่น กฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ และกฤษณะปราบนาคกาลียะ นอกจากนี้ยังปรากฏภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในหลายจุดอีกด้วย |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เป็นตัวอย่างศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรที่สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ลพบุรี, บาปวน |
อายุ | ปลายพุทธศตวรรษที่ 16 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 |
ศาสนา | พราหมณ์-ฮินดู |
ลัทธิ/นิกาย | ไศวนิกาย |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พราหมณ์ไศวนิกาย |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | ปราสาทตาเมือนธม |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-06-02 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | เฉลิมเกียรติ กิจตระกูลรัตน์. ปราสาทบ้านหินพลวง ตำบลกังแอง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์. สารนิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2528. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. บรรณาธิการ. ปราสาทหินและทับหลัง. กรุงเทพฯ : โครงสืบสานมรดกและวัฒนธรรมไทย, 2542. |