ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทสระกำแพงใหญ่
ปราสาทมีระเบียงคดล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ภายในระเบียงคดปรากฏอาคารจำนวน 6 หลัง คือ กลุ่มปราสาทประธาน 3 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ด้านหน้ามีบรรณาลัยในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2 ข้าง และด้านหลังยังปรากฏปราสาทอีก 1 หลัง ซึ่งตั้งเยื้องอยู่ทางด้านทิศใต้และทำให้ปราสาทมีแผนผังที่ไม่สมมาตรวัสดุที่ใช้ก่อสร้างปราสาทประธาน ประกอบด้วยหินทรายและอิฐในหลังเดียวกัน โดยส่วนที่เป็นผนังมักก่อนอิฐ ส่วนที่ใช้ในการสลักภาพ เช่น หน้าบัน ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูนั้น กลับสลักด้วยหินทราย อนึ่ง การผสมผสานกันระหว่างวัสดุ 2 ประเภทในปราสาทหลังเดียวกันนี้ ถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะขอมในดินแดนไทยเท่านั้นปราสาทประธานของปราสาทสระกำแพงใหญ่ แม้ว่าลวดลายได้มีอิทธิพลของศิลปะนครวัดเข้ามาปะปนแล้ว แต่สำหรับแผนผังและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมนั้นยังคงแสดงความเกี่ยวข้องกับปราสาทรุ่นเก่าอยู่ เช่น การไม่มีมณฑปยาว มีแต่เพียงมุขสั้นๆ เป็นต้น ปราสาทด้านหลังปราสาทประธานนั้นเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่นอกแผนผังที่สมมาตร กล่าวคือ เป็นปราสาทเพียงหลังเดียวที่ตั้งอยู่ด้านหลังปราสาท 3 องค์ด้นหน้า และตั้งเยื้องไปทางทิศใต้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องด้วยคติใดและอุทิศให้กับเทพหรือเทพีองค์ใด อย่างไรก็ตาม ย่อมแสดงให้เห็นความเป็นพื้นเมืองของปราสาทขอมในดินแดนไทยที่อาจสร้างปราสาทแบบไม่สมมาตรได้
สถาปัตยกรรมปราสาทบ้านพลวง
เป็นปราสาทขนาดเล็กหลังเดียวสร้างจากหินทราย ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปกากบาทขนาดใหญ่ที่สร้างจากศิลาแลง การที่ฐานศิลาแลงนี้มีปีก 2 ข้างซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวปราสาทมากจึงทำให้คิดไปได้ว่าอาจเคยมีแผนในการสร้างปราสาทบริวารด้วย แต่ปัจจบันไม่ปรากฏแล้ว โดยที่ไม่ทราบว่าเนื่องจากปราสาทดังกล่าวไม่เคยสร้างเสร็จ หรือเคยเป็นไม้จึงได้สูญหายไปหมดแล้วปราสาทหลังนี้เป็นตัวอย่างปราสาทขนาดเล็กที่มีภาพสลักที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ประตูหลักอยู่ทางทิศตะวันออกในขณะที่อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ตัวปราสาทมีภาพสลักในศิลปะร่วมแบบบาปวนอย่างงดงามทั้งบนทับหลังและหน้าบันอันทำให้พอกำหนดอายุได้ว่าอาจมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 สำหรับยอดของปราสาทนั้นอาจเป็นไปได้ที่เคยก่อด้วยอิฐมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปจึงสูญหายไปตามกาลเวลาทับหลังของปราสาทหลังนี้มักประกอบด้วยหน้ากาลแลบลิ้นสามเหลี่ยมคายท่อนพวงมาลัยตามแบบบาปวนโดยทั่วไป บางครั้งทับหลังก็มีพวงอุบะมาแบ่งตรงเสี้ยว บางครั้งก็ไม่มีซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นการพิสูจน์ว่าทับหลังแบบมีเสี้ยวและไม่มีเสี้ยวนั้นได้รับความนิยมในระยะร่วมสมัยกันส่วนหน้าบันนั้นมีลักษณะเป็นแบบบาปวนโดยทั่วไปเช่นกัน กล่าวคือ มีกรอบหน้าบันเป็นรูปก้านต่อดอกหันหัวลง มีนาคที่มีกระบังหน้า ภายในหน้าบันประกอบด้วยลายพรรณพฤกษาที่มีหน้ากาลคายอยู่เบื้องล่าง อนึ่ง เนื่องจากนาคปลายกรอบหน้าบันเริ่มมีกระบังหน้าแล้ว จึงอาจเป็นไปได้ที่ปราสาทหลังนี้คงมีอายุอยู่ในสมัยบาปวนตอนปลาย และอาจมีอายุหลังจากปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเมืองต่ำเล็กน้อย ทั้งหน้าบันและทับหลังของปราสาทหลังนี้ แสดงภาพพระกฤษณะในตอนต่างๆ เช่น กฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ และกฤษณะปราบนาคกาลียะ นอกจากนี้ยังปรากฏภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในหลายจุดอีกด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทตาเมือนธม
ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง 3 องค์ ประกอบด้วยปราสาทประธานขนาดใหญ่ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ภายในห้องกลางปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ลักษณะของศิวลึงค์นี้ตกแต่งจากแท่งหินทรายธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้มาแต่เดิม ภายหลังจึงสร้างปราสาทครอบ สันนิษฐานว่านี้น่าจะเป็นศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเอง เรียกว่า “สวายัมภูลึงค์” ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิไศวนิกาย ตัวปราสาทมีซุ้มประตู 4 ทิศ ประตูมุขด้านทิศใต้ต่อเข้ากับมุขหน้าหรือมณฑปยื่นออกมา โดยแบ่งเป็น 3 คูหา หลังคาทำด้วยหินทราย ปราสาทประธานมีการสลักลวดลายที่บริเวณฐาน โดยสลักเป็นรูปเทวรูปยืน นอกจากนี้ยังพบทับหลังหินทรายสลักภาพเทวดานั่งชันเข่าอยู่ภายในซุ้มบนแท่นเหนือหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัยปราสาทบริวาร หรือ ปรางค์น้อยมี 2 องค์ สร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องไปทางซ้ายและขวาของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีซุ้มประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศใต้ ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอกบรรณาลัย จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยศิลาแลง หลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสปราสาทประธาน ปรางค์บริวาร และบรรณาลัย มีระเบียงคดล้อมรอบ ซุ้มประตูหรือโคปุระสร้างด้วยหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช่องทางเดินภายในกว้างประมาณ 1.40 เมตร มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน โดยซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตก มีลักษณะเหมือนกัน ส่วนซุ้มประตูด้านทิศใต้จะมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นซุ้มประตูหลัก โดยแบ่งออกเป็น 3 คูหา คูหากลางมีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีหน้าต่างติดลูกกรงหินและบริเวณระเบียงคดนี้ได้พบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 มีเนื้อหากล่าวสรรเสริญพระศิวะและกล่าวถึงนามของทาสและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาเทวสถานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังพบท่าน้ำสร้างด้วยหินทรายนอกระเบียงคดด้านทิศใต้ ห่างออกไปประมาณ 10 เมตร และสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงก้นสระ อยู่บริเวณนอกระเบียงคดทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
สถาปัตยกรรมปราสาทนารายณ์เจงเวง
ปราสาทนารายณ์เจงเวง เป็นปราสาทหลังเดี่ยว ก่อด้วยหินทราย ทั้งหลัง ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษ เนื่องจากปราสาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหลังอื่นๆมักใช้วัสดุอื่นหรือวัสดุผสม ถ้าอนุมานจากรายละเอียดของภาพสลักและการใช้วัสดุ ย่อมแสดงใหเห็นว่าปราสาทแห่งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทในบริเวณเดียวกัน เช่น ปราสาทพระธาตุดุม และปราสาทภายในพระธาตุเชิงชุมแผนผังปราสาทประกอบด้วยห้องครรภคฤหะและมีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออก มีประตูทางด้านหน้าเพียงทิศเดียว ส่วนทิศอื่นเป็นประตูหลอก ซื่งปรากฏโดยปกติกับปราสาทในศิลปะบาปวนและนครวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปราสาทแห่งนี้ก็คือยังคงปรากฏโสมสูตรที่ประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ ภาพสลักส่วนมากเป็นภาพเล่าเรื่องในไวษณพนิกาย เช่น นารายณ์บรรทมสินธุ์ พระกฤษณะปราบสิงห์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน้าบันกลางกลับแสดงภาพศิวนาฏราชซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างเพื่ออุทิศให้กับไศวนิกายมากกว่า
สถาปัตยกรรมปราสาทพนมวัน
อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลุ่มปราสาทประธานประกอบด้วยตัวปราสาทประธาน อันตราละ และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกันปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม มีซุ้มมุขและประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ โดยมีมุขทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับอันตราละคือฉนวนหรือมุขกระสันซึ่งทำเป็นทางผ่านไปยังมณฑปที่อยู่ทางด้านหน้า มณฑปนั้นมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศเช่นเดียวกับปราสาทประธาน และมีหลังคาเป็นรูปโค้งทรงประทุน ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยแนวระเบียงคดซึ่งมีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ละมุมทั้ง 4 ของระเบียงคดยังปรากฏซุ้มทิศขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมออกมุมมีประตูทางเข้าและประตูที่เชื่อมต่อกับปีกโคปุระทั้ง 2 ด้านส่วนทางทิศใต้ของปราสาทประธานในเขตระเบียงคดมีปราสาทขนาดย่อมลงมาเรียกกันว่าปรางค์น้อย มีผังแบบเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนของเรือนธาตุก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ปัจจุบันส่วนยอดได้พังทลายลงมาแล้ว องค์ปราสาทยังไม่มีการสลักลวดลายตกแต่งลงไปเป็นเพียงโครงสร้างรูปปราสาทเท่านั้น จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นสันนิษฐานว่าปรางค์น้อยนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินทราย นอกจากนี้ภายในระเบียงคดยังพบแนวฐานอาคารอิฐหลายหลังอยู่ล้อมรอบปราสาทประธานอีกด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊อกก๊อกธม
ประกอบไปด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกทางเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทประธานมีสภาพไม่สมบูรณ์ก่อด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีเสานางเรียงหรือเสานางจรัลปักอยู่โดยรอบ มีบรรณาลัยสองหลังในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานตามลำดับ อาคารทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีประตูทางเข้าหรือที่เรียกว่าโคปุระทางทิศตะวันออก ส่วนระเบียงคดด้านทิศตะวันตกปรากฏห้องยาวคั่นอยู่กึ่งกลาง ส่วนพื้นที่ระหว่างระเบียงคดและกำแพงแก้วนั้นขุดคูน้ำล้อมรอบ กำแพงแก้วนั้นก่อด้วยศิลาแลง มีโคปุระหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันออกและมีฉนวนหรือทางเดินปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อกันเป็นแนวตรงระหว่างโคปุระของระเบียงคดและโคปุระของกำแพงแก้ว มีเสานางเรียงปักตามแนวทั้งสองข้างทอดยาวไปจนถึงคันดินสระน้ำทางทิศตะวันออกนอกกำแพงแก้ว
ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลังในศิลปะบาปวน มีการทำท่อนพวงมาลัยที่สืบต่อมาจากสมัยก่อนหน้า ส่วนกลางท่อนพวงมาลัยกดลงไปอยู่ด้านล่าง ปรากฏหน้ากาลที่มีมือจับท่อนพวงมาลัยที่ ปลายทั้งสองข้างของท่อนพวงมาลัยม้วนออก เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ตั้งขึ้น ด้านล่างท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ตกลง ระหว่างช่องใบไม้ตกลงเป็นรูปใบไม้สามเหลี่ยม แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการทำเสี้ยวของท่อนพวงมาลัย ที่แต่เดิมเป็นรูปสัตว์ขบมาเป็นพวงอุบะ ซึ่งแต่เดิมนักวิชาการชาฝรั่งเศสเชื่อว่าเป็นศิลปะคลัง แต่ต่อมาพบว่าทับหลังในลักษณะดังกล่าวนี้ สร้างขึ้นเดียวกันกับทับหลังแบบศิลปะบาปวน จึงจัดรูปแบบทับหลังที่มีรูปแบบดังกล่าวนี้อยู่ในศิลปะแบบบาปวนด้วย
ประติมากรรมทับหลังสลักภาพอุมามเหศวร
ทับหลังในศิลปะบาปวน มีการทำท่อนพวงมาลัยที่สืบต่อมาจากสมัยก่อนหน้า ส่วนกลางท่อนพวงมาลัยกดลงไปอยู่ด้านล่าง ปรากฏหน้ากาลที่มีมือจับท่อนพวงมาลัยที่ ปลายทั้งสองข้างของท่อนพวงมาลัยม้วนออก เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ตั้งขึ้น ด้านล่างท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ตกลง ระหว่างช่องใบไม้ตกลงเป็นรูปใบไม้สามเหลี่ยม เหนือหน้ากาลปรากฏการทำประติมากรรมอุมามเหศวร