ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปราสาทตาเมือนธม

คำสำคัญ : ปราสาทเขมร, บาปวน, ปราสาทตาเมือน, ปราสาทนารายณ์เจงเวง , ปราสาทบ้านพลวง, ปราสาทสระกำแพงใหญ่

ชื่อหลักปราสาทตาเมือนธม
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ที่อยู่บ้านหนองคันนา
ตำบลตาเมียง
อำเภอพนมดงรัก
จังหวัดสุรินทร์
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.34969
Long : 103.263688
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 P
Hemisphere : N
E : 313072.3
N : 1587045.02
ตำแหน่งงานศิลปะกึ่งกลางของผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศใต้

ประวัติการสร้าง

จากจารึกที่ค้นพบได้ในปราสาทระบุว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หินทรายและศิลาแลง

ลักษณะทางศิลปกรรม

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง 3 องค์ ประกอบด้วยปราสาทประธานขนาดใหญ่ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ภายในห้องกลางปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ลักษณะของศิวลึงค์นี้ตกแต่งจากแท่งหินทรายธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้มาแต่เดิม ภายหลังจึงสร้างปราสาทครอบ สันนิษฐานว่านี้น่าจะเป็นศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเอง เรียกว่า “สวายัมภูลึงค์” ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิไศวนิกาย ตัวปราสาทมีซุ้มประตู 4 ทิศ ประตูมุขด้านทิศใต้ต่อเข้ากับมุขหน้าหรือมณฑปยื่นออกมา โดยแบ่งเป็น 3 คูหา หลังคาทำด้วยหินทราย ปราสาทประธานมีการสลักลวดลายที่บริเวณฐาน โดยสลักเป็นรูปเทวรูปยืน นอกจากนี้ยังพบทับหลังหินทรายสลักภาพเทวดานั่งชันเข่าอยู่ภายในซุ้มบนแท่นเหนือหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัย

ปราสาทบริวาร หรือ ปรางค์น้อยมี 2 องค์ สร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องไปทางซ้ายและขวาของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีซุ้มประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศใต้ ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอก

บรรณาลัย จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยศิลาแลง หลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ปราสาทประธาน ปรางค์บริวาร และบรรณาลัย มีระเบียงคดล้อมรอบ ซุ้มประตูหรือโคปุระสร้างด้วยหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช่องทางเดินภายในกว้างประมาณ 1.40 เมตร มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน โดยซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตก มีลักษณะเหมือนกัน ส่วนซุ้มประตูด้านทิศใต้จะมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นซุ้มประตูหลัก โดยแบ่งออกเป็น 3 คูหา คูหากลางมีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีหน้าต่างติดลูกกรงหินและบริเวณระเบียงคดนี้ได้พบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 มีเนื้อหากล่าวสรรเสริญพระศิวะและกล่าวถึงนามของทาสและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาเทวสถานแห่งนี้

นอกจากนี้ยังพบท่าน้ำสร้างด้วยหินทรายนอกระเบียงคดด้านทิศใต้ ห่างออกไปประมาณ 10 เมตร และสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงก้นสระ อยู่บริเวณนอกระเบียงคดทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เป็นตัวอย่างศาสนสถานขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมเขมรที่สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, บาปวน
อายุปลายพุทธศตวรรษที่ 16
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ลัทธิ/นิกายไศวนิกาย
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพราหมณ์ไศวนิกาย
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ปราสาทสระกำแพงใหญ่

ปราสาทนารายณ์เจงเวง

ปราสาทบ้านพลวง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-02
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. บรรณาธิการ. ปราสาทหินและทับหลัง. กรุงเทพฯ : โครงสืบสานมรดกและวัฒนธรรมไทย, 2542.

อนงค์ หนูแป้น. การศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535.