ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปราสาทนารายณ์เจงเวง
คำสำคัญ : พระนารายณ์, ภาพสลัก, บาปวน, ปราสาทนารายณ์เจงเวง , วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง, ตำนานอุรังคธาตุ
ชื่อหลัก | วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | พังขว้าง |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | สกลนคร |
ภาค | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 17.186971 Long : 104.095906 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 48 Q Hemisphere : N E : 403839.84 N : 1900452.92 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ตัวปราสาทก่อด้วยศิลาทราย ฐานก่อด้วยศิลาแลง |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ปราสาทนารายณ์เจงเวง เป็นปราสาทหลังเดี่ยว ก่อด้วยหินทราย ทั้งหลัง ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษ เนื่องจากปราสาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหลังอื่นๆมักใช้วัสดุอื่นหรือวัสดุผสม ถ้าอนุมานจากรายละเอียดของภาพสลักและการใช้วัสดุ ย่อมแสดงใหเห็นว่าปราสาทแห่งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทในบริเวณเดียวกัน เช่น ปราสาทพระธาตุดุม และปราสาทภายในพระธาตุเชิงชุม แผนผังปราสาทประกอบด้วยห้องครรภคฤหะและมีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออก มีประตูทางด้านหน้าเพียงทิศเดียว ส่วนทิศอื่นเป็นประตูหลอก ซื่งปรากฏโดยปกติกับปราสาทในศิลปะบาปวนและนครวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปราสาทแห่งนี้ก็คือยังคงปรากฏโสมสูตรที่ประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ ภาพสลักส่วนมากเป็นภาพเล่าเรื่องในไวษณพนิกาย เช่น นารายณ์บรรทมสินธุ์ พระกฤษณะปราบสิงห์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน้าบันกลางกลับแสดงภาพศิวนาฏราชซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างเพื่ออุทิศให้กับไศวนิกายมากกว่า |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | เป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่สำคัญในพื้นที่อีสานตอนบน |
ข้อสังเกตอื่นๆ | ชื่อของปราสาทนั้นนำมาจากชื่อที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุว่าอรดีมายานารายณ์เจงเวงเพื่อผนวกเรื่องราวตามที่ปรากฏในตำนาน หรืออีกข้อสันนิษฐานหนึ่งนั้นว่ามาจากภาษาเขมรว่า “นารายณ์เชิงแวง” หรือพระนารายณ์ขายาว เนื่องจากปรากฏภาพสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ทางด้านเหนือของปราสาท |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ลพบุรี, บาปวน |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 17 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พราหมณ์ไศวนิกาย ต่อมาได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นพระธาตุในคติพุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงโบราณสถานแห่งนี้ว่า ยังกล่าวว่า เมื่อพระมหากัสสปเถระและบริวารเดินทางมาถึงเมืองหนองหานหลวง กลุ่มสตรีชาวเมืองหนองหานได้ทูลขอแบ่งพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระมหาเถระผู้ใหญ่มิได้ทรงอนุญาตด้วยผิดวัตถุประสงค์ที่พระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ให้นำอุรังคธาตุไปประดิษฐานบรรจุเจดีย์ที่ภูกำพร้า กลางลำน้ำโขง(พระธาตุพนม) แต่มิให้เสียศรัทธา พระมหากัสสปะมอบให้พระอรหันต์รูปหนึ่งไปนำพระอังคารธาตุจากที่ถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาพระยาสุวรรณภิงคารประสงค์จะขอแบ่งพระธาตุมาบ้าง จึงสร้างปราสาทภูเพ็กขึ้น โดยแข่งกับฝ่ายหญิงที่สร้างปราสาทนารายณ์เจงเวง ทั้งสองฝ่ายถือกติกาว่าถ้าดาวเพ็ก (ดาวศุกร์) ขึ้นให้หยุดสร้าง ในการก่อสร้าง ฝ่ายหญิงได้ออกอุบายแขวนโคมไว้บนยอดสูง ทำให้ฝ่ายชายเข้าใจผิดและหยุดสร้าง ปราสาทนารายณ์เจงเวงจึงเสร็จสมบูรณ์อยู่เพียงปราสาทเดียว |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-06-02 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ 4 : ว่าด้วยเที่ยวมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลร้อยเอ็ด. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขตร์ (สีห์ จันทรสาขา) 18 พฤษภาคม 2512. ศันสนีย์ แสงบำเพ็ญ. การศึกษาปราสาทนารายณ์เจงเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร. วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529. อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2537. |