ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทนารายณ์เจงเวง
ปราสาทนารายณ์เจงเวง เป็นปราสาทหลังเดี่ยว ก่อด้วยหินทราย ทั้งหลัง ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษ เนื่องจากปราสาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหลังอื่นๆมักใช้วัสดุอื่นหรือวัสดุผสม ถ้าอนุมานจากรายละเอียดของภาพสลักและการใช้วัสดุ ย่อมแสดงใหเห็นว่าปราสาทแห่งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทในบริเวณเดียวกัน เช่น ปราสาทพระธาตุดุม และปราสาทภายในพระธาตุเชิงชุมแผนผังปราสาทประกอบด้วยห้องครรภคฤหะและมีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออก มีประตูทางด้านหน้าเพียงทิศเดียว ส่วนทิศอื่นเป็นประตูหลอก ซื่งปรากฏโดยปกติกับปราสาทในศิลปะบาปวนและนครวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปราสาทแห่งนี้ก็คือยังคงปรากฏโสมสูตรที่ประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ ภาพสลักส่วนมากเป็นภาพเล่าเรื่องในไวษณพนิกาย เช่น นารายณ์บรรทมสินธุ์ พระกฤษณะปราบสิงห์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน้าบันกลางกลับแสดงภาพศิวนาฏราชซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างเพื่ออุทิศให้กับไศวนิกายมากกว่า
จิตรกรรมถ้ำผาลายภูผายนต์
ภาพสลักต่างๆ นั้นสามารถแยกประเภทได้ดังนี้1. ภาพคน มีทั้งหมด 21 ภาพ มีทั้งภาพคนที่เหมือนจริงและภาพกึ่งเหมือนจริง ภาพเหมือนจริงคือภาพที่บ่งบอกลักษณะว่าเหมือน เช่น ภาพเหมือนคนซึ่งเน้นแสดงโครงภายนอก ไม่มีรายละเอียดของอวัยวะ เช่น หู ตา ปาก จมูก นิ้วมือ นิ้วเท้า มีจำนวน 9 ภาพ เป็นภาพเด็ก 2 ภาพ ผู้ใหญ่ 7 ภาพ ส่วนภาพกึ่งเหมือนจริงคือภาพที่บ่งบอกลักษณะว่าเป็นคนโดยสัดส่วน แต่จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น หัวคนเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือแขน ขา ไม่เน้นให้เห็นกล้ามเนื้อ แต่มีอวัยวะที่สำคัญครบส่วน เช่น หู ตา ปาก จมูก ไม่มีนิ้วมือ นิ้วเท้า ภาพประเภทนี้ มี 12 ภาพ2. ภาพมือ มีเพียงภาพเดียว เป็นภาพมือขวาหงายมือแสดงอุ้งมือ มีนิ้ว 6 นิ้ว3. ภาพสัตว์ มีทั้งหมด 21 ภาพ ภาพปลา 8 ภาพ ภาพนก 4 ภาพ ภาพสุนัข 2 ภาพ กระรอกหรือกระแต 1 ภาพ ภาพควาย 1 ภาพ วัวหรือควาย 4 ภาพ กบหรือเขียด 1 ภาพ4. ภาพลวดลายเรขาคณิต เป็นเส้นตรง เส้นโค้ง หรือทำเป็นลวดลายต่างๆ มีรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม กากบาท หัวลูกศร สามเหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายเส้นเดียว ลายเส้นเรียงแถวกัน ลายเส้นตัดกันไปตัดกันมาจนหารูปทรงที่แน่นอนไม่ได้ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก5. ภาพสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ภาพที่คล้ายไถ เครื่องมือทำนาแสดงเฉพาะส่วนหัวที่เรียกว่า "หัวหมู" หรือ "ผาล" อยู่ตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีรูปจอบมีด้ามและรูปพัดสำหรับพัดให้กระแสลมพัดข้าวเมล็ดลีบออก 6.ภาพอาคาร มีลักษณะคล้ายบ้าน 2 ภาพ เป็นทรงบ้านหลังคาสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ภาพหนึ่งมีสุนัขอยู่ข้างในบ้าน อีกภาพหนึ่งเป็นบ้านที่มียอดหลังคาไขว้คล้ายเรือนกาแล หรือเถียงนาในภาคอีสาน และมีภาพคล้ายคนอยู่ในบ้าน
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป
ภาพสลักนูนต่ำกลุ่มนี้สลักภาพพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยอยู่ทางซ้ายสุดของกลุ่ม พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม ถัดมาทางขวาเป็นภาพบุคคลเศียรเดียว สองกร ประทับในท่านั่งแบบลลิตาสนะ เชื่อว่าเป็นพระศิวะเพราะพระหัตถ์ซ้ายทรงอักษมาลา (ลูกประคำ) ถัดมาเป็นรูปพระวิษณุยืน โดยสังเกตได้จากการมีสี่กร พระกรปกติไขว้กันที่พระอุระ เป็นกิริยาแสดงความนบนอบต่อพระพุทธเจ้า พระหัตถ์อีก 2 ข้างทรงจักรและสังข์ ถัดไปทางขวามีรูปเทวดาเหาะ 2 องค์ และฤาษี 1 ตน
ประติมากรรมภาพสลักพระพุทธรูป
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิแบบหลวม ไขว้ซ้อนกันเพียงข้อพระบาท พระหัตถ์ปางสมาธิ มีฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร เบื้องขวาของพระองค์มีธรรมจักรวางตั้งอยู่บนเสา ส่วนเบื้องซ้ายของพระองค์เป็นเจดีย์ทรงกลม
ประติมากรรมภาพสลักเล่าเรื่องยมกปาฏิหาริย์
แผ่นหินนี้สลักภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถีเพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์ พระพุทธเจ้านั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ซึ่งวางอยู่ใต้ต้นมะม่วง พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานธรรมทั้งสองข้างแวดล้อมด้วยภาพบุคคลจำนวนมาก แต่ละข้างมีเส้นตรงตามแนวนอนแบ่งกลุ่มบุคคลออกเป็น 2 กลุ่ม น่าจะสื่อว่าใต้เส้นตรงเป็นโลกมนุษย์ เหนือเส้นตรงเป็นสวรรค์ ดังนั้นกลุ่มบุคคลใต้แนวเส้นตรงที่อยู่ทางขวาของพระพุทธองค์น่าจะหมายถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมด้วยผู้ติดตาม ในขณะที่อีกข้างหนึ่งใต้แนวเส้นตรงเป็นเหล่าเดียรถีย์ที่พ่ายแพ้ สำหรับบุคคลที่อยู่เหนือแนวเส้นตรงเป็นทิพยบุคคลบนสวรรค์ โดยด้านขวาของพระพุทธองค์เป็นบุคคลสวมเครื่องทรงจำนวนมากน่าจะเป็นเทวดาที่นำโดยพระอินทร์ ส่วนด้านซ้ายเป็นบุคคลที่ครองเพศนักบวชน่าจะเป็นพระพรหม ถัดขึ้นไปด้านบนตามกิ่งก้านของต้นมะม่วงปรากฏภาพพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่างๆ 7 องค์
ประติมากรรมภาพสลักรูปปราสาท บนผนังที่ปราสาทสมโบร์ไพรกุก
เป็นปราสาทที่สร้างจากอิฐ อยู่ในผังสี่เหลี่ยม มีเสาติดผนังที่มุมของเรือนธาตุ มีทางเข้าทางเดียว อีกทั้งสามทางเป็นประตูหลอก หลังคาทำเป็นเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบวิมานของอินเดียใต้ ปราสาทตั้งอยู่บนพื้นราบ ไม่มีการทำฐานซ้อนชั้น
สถาปัตยกรรมทางประทักษิณภายในอานันทเจดีย์
ภายในอานันทเจดีย์ ปรากฏทางประทักษิณภายในซ้อนกันถึง 2 ชั้น ทางประทักษิณเหล่านี้วนล้อมรอบแกนกลางและครรภคฤหะ ที่ผนังของทางประทักษิณประดับภาพสลักพุทธประวัติจำนวนมาก เพื่อให้ผู้เดินประทักษิณได้เรียนรู้พุทธประวัติไปในตัว ด้านบนปรากฏหลังคาครึ่งวงโค้ง ซึ่งได้แก่หลังคาลาดเมื่อมองจากภายนอกนั่นเอง ทางประทักษิณภายในปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ศิลปะปาละ เช่นปหรรปุระและวิกรมศิลา
สถาปัตยกรรมทางประทักษิณและภาพสลักเล่าเรื่องที่บุโรพุทโธ
สถูปประกอบไปด้วยฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนห้าชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยทางประทักษิณที่มีภาพเล่าเรื่องทางพุทธศาสนามหายานประดับ ภาพเล่าเรื่องเหล่านี้ มีภาพเล่าเรื่องตามคัมภีร์ลลิตวิสตระ คัมภีร์ชาดกและอวทาน (ระเบียงชั้นล่าง) และคัมภีร์คัณฑวยุหสูตร (ระเบียงชั้นที่ 2-4) ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากสลักขึ้นเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้เรียนรู้เรื่องราวทางพุทธศาสนาขณะเดินประทักษิณแล้ว ยังเป็นการบ่งบอกภพภูมิต่างๆในพุทธศาสนามหายานซึ่งถูกจำลองที่บุโรพุทโธอีกด้วย