ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่ใต้ หลังที่ 1
ปราสาทสมัยก่อนเมืองพระนคร มักสร้างด้วยอิฐและแตกต่างด้วยการสลักอิฐเสมอ โดยไม่มีการเพิ่มมุม แต่มักประดับด้วยเสาติดผนังที่มุมและที่ด้าน ปราสาทสมโบร์ไพรกุกหลังนี้ มีการตกแต่งด้านข้างด้วยเสาติดผนังจำนวน 6 ต้น แบ่งพื้นที่เรือนธาตุออกเป็น 5 เก็จ โดยเก็จประธานประดับซุ้มประตูทรงปราสาท ส่วนเก็จข้างประดับ “วิมานลอย” ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของสมัยก่อนเมืองพระนคร ยอด้ายบนมีลักษณะเป็นเรือนธาตุซ้อนชั้นตามอย่างวิมาน อินเดียใต้ โดยแต่ละชั้นมีการประดับปราสาทจำลองซึ่งมีบันไดเป็นระยะๆ ปราสาทจำลองเช่นนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยก่อนเมืองพระนครเช่นกัน
สถาปัตยกรรมปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่กลาง หลังที่ 1
ปราสาทสมัยก่อนเมืองพระนคร มักสร้างด้วยอิฐและแตกต่างด้วยการสลักอิฐเสมอ โดยไม่มีการเพิ่มมุม แต่มักประดับด้วยเสาติดผนังที่มุมและที่ด้าน อนึ่ง ปราสาทหลังนี้มีลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกับปราสาทสมโบร์ไพรกุกหลังอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรูปแบบทั้งหลังได้เปลี่ยนไปกลายเป็นแบบไพรกเมงต่อกำพงพระแล้ว ด้วยเหตุนี้ปราสาทหลังนี้จึงควรมีอายุหลังกว่าปราสาทสมโบร์ไพรกุกในหมู่ใต้และหมู่เหนือ ด้านหน้าปราสาทมีการสลักบันไดขนาดใหญ่จากหินก้อนเดียว และมีการสลักรูปสิงห์ทวารบาล ซึ่งทำให้ปราสาทหลังนี้รู้จักกันในอีกรนามหนึ่งว่า “ปราสาทสิงห์”
ประติมากรรมภาพสลักรูปปราสาท บนผนังที่ปราสาทสมโบร์ไพรกุก
เป็นปราสาทที่สร้างจากอิฐ อยู่ในผังสี่เหลี่ยม มีเสาติดผนังที่มุมของเรือนธาตุ มีทางเข้าทางเดียว อีกทั้งสามทางเป็นประตูหลอก หลังคาทำเป็นเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบวิมานของอินเดียใต้ ปราสาทตั้งอยู่บนพื้นราบ ไม่มีการทำฐานซ้อนชั้น
ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลังในภาพ เป็นรูปแบบของทับหลังในศิลปะไพรกเมงที่จะคลี่คลายไปสู่แบบศิลปะกำพงพระ โดยมีการทำเส้นวงโค้งเป็นเส้นตรงเพียงเส้นเดียว กลางทับหลัง และปรากฏเหรียญอยู่กลางเส้นวงโค้ง ตามรูปแบบของศิลปะไพรกเมง แต่อย่างไรก็ตามตัวเหรียญได้ปรับเปลี่ยนเป็นลักษณะของลายใบไม้ซึ่งเหมือนกับปลายของทับหลังทั้งสองด้านปรากฏเป็นลายใบไม้ขนาดใหญ่ซึ่งต่อมาลายใบไม้ดังกล่าวจะเป็นที่นิยมในศิลปะกำพงพระ
ประติมากรรมภาพสลักพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2
ภาพสลักที่ผนังระเบียงคดชั้นที่ 2 ที่ปราสาทนครวัด จะมีการสลักภาพนูนต่ำเล่าเรื่องต่างๆ ไล่เรียงกันไป ที่ผนังทุกด้าน โดยทางทิศใต้สลักเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2ลักษณะของเครื่องแต่งกายบุคคลที่ปรากฏในภาพสลัก ดูจากบุคคลขนาดใหญ่ที่อยู่กลางภาพ นั่งอยู่บนบัลลังก์ยกสูงในท่านั่งมหาราชลี ด้านหลังมีฉัตร และเครื่องสูงเต็มฉากหลัง ทรงกระบังหน้ายอดทรงกรวย ทรงกรองศอประดับพู่ห้อย พาหุรัด สังวาลไขว้กันเป็นรูปกากบาท ทรงผ้านุ่งสั้น มีชายผ้าสามเหลี่ยมชักออกมาด้านข้าง ซึ่งจากลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะนครวัด