ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ถ้ำผาลายภูผายนต์

คำสำคัญ : ภาพสลัก, ภาพสลักหินก่อนประวัติศาสตร์, ถ้ำผาลายภูผายนต์, ถ้ำผาลายภูผายล

ชื่อหลักภูผายนต์
ชื่ออื่นถ้ำผาลายภูผายล
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ที่อยู่บ้านนาผาง
ตำบลกกปลาซิว
อำเภอเมือง
จังหวัดสกลนคร
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 16.939175
Long : 104.076446
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 Q
Hemisphere : N
E : 401454.26
N : 1873217.01
ตำแหน่งงานศิลปะถ้ำผาลายอยู่บนหน้าผาด้านทิศตะวันตกของภูผายนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน และอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านนาผาง ห่างไปประมาณ 1 กม. สูงจากที่ราบเชิงเขา 200 เมตร

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สลักลงในเนื้อหิน

ขนาดเป็นหน้าผายาว 45 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

ภาพสลักต่างๆ นั้นสามารถแยกประเภทได้ดังนี้

1. ภาพคน มีทั้งหมด 21 ภาพ มีทั้งภาพคนที่เหมือนจริงและภาพกึ่งเหมือนจริง ภาพเหมือนจริงคือภาพที่บ่งบอกลักษณะว่าเหมือน เช่น ภาพเหมือนคนซึ่งเน้นแสดงโครงภายนอก ไม่มีรายละเอียดของอวัยวะ เช่น หู ตา ปาก จมูก นิ้วมือ นิ้วเท้า มีจำนวน 9 ภาพ เป็นภาพเด็ก 2 ภาพ ผู้ใหญ่ 7 ภาพ ส่วนภาพกึ่งเหมือนจริงคือภาพที่บ่งบอกลักษณะว่าเป็นคนโดยสัดส่วน แต่จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น หัวคนเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือแขน ขา ไม่เน้นให้เห็นกล้ามเนื้อ แต่มีอวัยวะที่สำคัญครบส่วน เช่น หู ตา ปาก จมูก ไม่มีนิ้วมือ นิ้วเท้า ภาพประเภทนี้ มี 12 ภาพ

2. ภาพมือ มีเพียงภาพเดียว เป็นภาพมือขวาหงายมือแสดงอุ้งมือ มีนิ้ว 6 นิ้ว

3. ภาพสัตว์ มีทั้งหมด 21 ภาพ ภาพปลา 8 ภาพ ภาพนก 4 ภาพ ภาพสุนัข 2 ภาพ กระรอกหรือกระแต 1 ภาพ ภาพควาย 1 ภาพ วัวหรือควาย 4 ภาพ กบหรือเขียด 1 ภาพ

4. ภาพลวดลายเรขาคณิต เป็นเส้นตรง เส้นโค้ง หรือทำเป็นลวดลายต่างๆ มีรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม กากบาท หัวลูกศร สามเหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายเส้นเดียว ลายเส้นเรียงแถวกัน ลายเส้นตัดกันไปตัดกันมาจนหารูปทรงที่แน่นอนไม่ได้ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก

5. ภาพสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ภาพที่คล้ายไถ เครื่องมือทำนาแสดงเฉพาะส่วนหัวที่เรียกว่า "หัวหมู" หรือ "ผาล" อยู่ตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีรูปจอบมีด้ามและรูปพัดสำหรับพัดให้กระแสลมพัดข้าวเมล็ดลีบออก

6.ภาพอาคาร มีลักษณะคล้ายบ้าน 2 ภาพ เป็นทรงบ้านหลังคาสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ภาพหนึ่งมีสุนัขอยู่ข้างในบ้าน อีกภาพหนึ่งเป็นบ้านที่มียอดหลังคาไขว้คล้ายเรือนกาแล หรือเถียงนาในภาคอีสาน และมีภาพคล้ายคนอยู่ในบ้าน
สกุลช่างก่อนประวัติศาสตร์
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เป็นภาพสลักลงบนเพิงหินธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในดินแดนไทย สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้น ภาพสลักมีทั้งลายเส้นสัญลักษณ์ที่ไม่ทราบความหมาย คนในอิริยาบถต่างๆ สัตว์

ข้อสังเกตอื่นๆ

เคารพนับถือหรือบูชาธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ ภูเขา แม่น้ำ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุ

ยุคก่อนประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะก่อนประวัติศาสตร์
อายุ3,500 ปี
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง

บูชาธรรมชาติ

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-27
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.