ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ภาพสลักพระพุทธรูป

คำสำคัญ : ถ้ำฤาษีเขางู, พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท, ภาพสลัก, ถ้ำพระโพธิสัตว์

ชื่อหลักถ้ำพระโพธิสัตว์
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ที่อยู่วัดถ้ำพระโพธิสัตว์
ตำบลทับกวาง
อำเภอแก่งคอย
จังหวัดสระบุรี
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.576248
Long : 101.145822
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 731118.09
N : 1612529.91
ตำแหน่งงานศิลปะบริเวณปากถ้ำ

ประวัติการสร้าง

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้เชื่อได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สลักหิน

ลักษณะทางศิลปกรรม

ภาพสลักนูนต่ำกลุ่มนี้สลักภาพพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยอยู่ทางซ้ายสุดของกลุ่ม พระพุทธองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่บนบัลลังก์ พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม ถัดมาทางขวาเป็นภาพบุคคลเศียรเดียว สองกร ประทับในท่านั่งแบบลลิตาสนะ เชื่อว่าเป็นพระศิวะเพราะพระหัตถ์ซ้ายทรงอักษมาลา (ลูกประคำ) ถัดมาเป็นรูปพระวิษณุยืน โดยสังเกตได้จากการมีสี่กร พระกรปกติไขว้กันที่พระอุระ เป็นกิริยาแสดงความนบนอบต่อพระพุทธเจ้า พระหัตถ์อีก 2 ข้างทรงจักรและสังข์ ถัดไปทางขวามีรูปเทวดาเหาะ 2 องค์ และฤาษี 1 ตน

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ภาพสลักนี้ทำพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดบุคคลที่เชื่อว่าเป็นพระศิวะและพระวิษณุ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าในสมัยทวารวดีน่าจะมีการแข่งขันกัน หรือการขัดแย้งกันระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ ภาพสลักนี้พุธศาสนิกชนคงทำขึ้นเพื่อสื่อความหมายว่าพุทธศาสนาเหนือกว่าศาสนาพราหมณ์ หรือพระพุทธเจ้าสูงส่งกว่าเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์

อย่างไรก็ตาม การทำพระพุทธเจ้าเทศนาโปรดเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์อาจจะพิจารณาได้ในอีกแนวทางหนึ่ง ว่าเป็นการผสมผสานหรืออยู่ร่วมกันระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ก็ได้

นอกจากนี้ภาพสลักที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ยังแสดงถึงประเพณีการดัดแปลงถ้ำตามธรรมชาติให้เป็นพุทธสถาน อันเป็นสิ่งที่พบได้มากในสมัยทวารวดี
ข้อสังเกตอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม อาจสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ด้วยก็ได้

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะทวารวดี
อายุพุทธศตวรรษที่ 12-16
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ถ้ำฤาษีเขางู สลักพระพุทธเจ้านั่งห้อยพระบาทอยู่ภายในถ้ำเช่นเดียวกัน

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-19
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ผาสุข อินทราวุธ, ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.