ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปราสาทเมืองแขก

คำสำคัญ : ปราสาทเขมร, พระศิวะ, ปราสาทเมืองแขก, เกาะแกร์

ชื่อหลักปราสาทเมืองแขก
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลโคราช
อำเภอสูงเนิน
จังหวัดนครราชสีมา
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.912841
Long : 101.833437
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 804880.04
N : 1650658.7
ตำแหน่งงานศิลปะหันหน้าไปทางทิศเหนือ

ประวัติการสร้าง

จากจารึกปราสาทเมืองแขกระบุว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งศักราชในจารึกสามารถเทียบเป็นพุทธศักราชตรงกับ พ.ศ.1517

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หินทรายและอิฐ

ลักษณะทางศิลปกรรม

ปราสาทเมืองแขกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ก่อด้วยหินทรายและอิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ สิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง ระเบียงคด ซุ้มประตูหรือโคปุระ กำแพงแก้ว สระน้ำ และปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็ก

ลักษณะผังโบราณสถานแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 หรือส่วนในสุด ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยหินทรายและอิฐตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หัวหน้าไปทางทิศเหนือ เฉพาะองค์ปรางค์หรือปราสาทประธานมีมุขหรือมณฑปซึ่งมีลักษณะเป็นห้องต่อออกมาทางด้านหน้า มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง พบฐานประติมากรรมหินทรายที่ครรภคฤหะของปราสาทประธานและปราสาทหลังด้านทิศตะวันออก อาคารทั้งสามหลังเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐานและตัวอาคารบางส่วน รวมทั้งที่ปราสาทประธานยังคงหลงเหลือช่องหน้าต่างและลูกมะหวด เสาประดับกรอบประตู กรอบประตูหินทราย และทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ด้านบนกรอบประตูหน้าสุดหรือส่วนมณฑป

ด้านข้างองค์ปรางค์ประธานมีฐานอาคารก่อด้วยอิฐ 2 หลัง อยู่ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันด้านหน้าเข้าสู่ปราสาทประธาน อาจเป็นวิหารหรือบรรณาลัย ในส่วนแรกนี้มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของกำแพงมีอาคารอิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อขนานยาวไปกับกำแพง อาคารหลังนี้มีประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ ยังคงหลงเหลือเสาประดับกรอบประตูอยู่ที่ประตูด้านทิศเหนือ

มีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระชั้นในอยู่ด้านเดียวคือด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ (มีช่องประตู 3 ช่อง) ที่ยังคงหลงเหลือกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตูหินทราย นอกจากนี้ยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยอิฐอีก 2 หลังที่มุมกำแพงแก้วด้านหน้าของปราสาทประธาน ข้างโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นในด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือทั้ง 2 ด้าน ซ้ายและขวา โดยอาคารด้านขวามีทางเดินปูอิฐเชื่อมกับอาคารยาวที่ขนานไปกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก

ส่วนที่ 2 เป็นกำแพงชั้นนอก ซึ่งขุดเป็นสระเกือบจะล้อมรอบโบราณสถาน เว้นเพียงส่วนกลางด้านหน้า โดยใช้ดินที่ได้จากการขุดสระทำเป็นคันกำแพงล้อมรอบกำแพงแก้วและสระน้ำ ทางด้านทิศเหนือมีทางเดินเชื่อมกับส่วนในหรือส่วนที่หนึ่ง กำแพงชั้นนอกด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูขนาดใหญ่หรือโคปุระชั้นนอกรูปกากบาท ตรงกับโคปุระชั้นใน (มีช่องประตู 3 ช่อง) ยังคงปรากฏช่องหน้าต่างและลูกมะหวดรวมทั้งกรอบประตูหินทราย

ส่วนที่ 3 อยู่นอกกำแพงชั้นนอกหรือส่วนที่สองออกมาทางด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ มีฐานอาคารก่อด้วยฐานก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และอิฐ 2 หลัง ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันหน้าเข้าหากัน (อาคารหลังด้านขวาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนอาคารหลังด้านซ้ายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ส่วนบนอาจจะสร้างด้วยไม้ ฐานอาคารทั้งสองหลังมีผังเป็นสี่เหลี่ยมมีมุขยื่นมาทางด้านหน้า ฐานสูง มีบันไดขึ้นสู่ด้านบนของฐานทั้ง 4 ด้าน มีกำแพงล้อมรอบ มีโคปุระที่ด้านหน้าและหลัง (ด้านหน้ามีขนาดใหญ่กว่า) ภายในห้องประธานของอาคารหลังด้านทิศตะวันตกมีฐานศิวลึงค์และโยนีหินทรายตั้งอยู่กลางห้อง เช่นเดียวกับอาคารหลังด้านทิศตะวันออกที่มีฐานประติมากรรมหินทรายตั้งอยู่กลางห้องประธาน

จากการขุดค้นที่พบหลักฐานสำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ฐานศิวลึงค์ หน้าบันสลักภาพอุมามเหศวร ทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้มเหนือหน้ากาล ประติมากรรมโคนนทิ และจารึก 3 หลัก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าศาสนสถานหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะร่วมแบบเกาะแกร์-แปรรูป ส่วนจารึกระบุมหาศักราช 896 ตรงกับ พ.ศ.1517
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เป็นตัวอย่างศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ทั้งยังเป็นสถานที่ที่พบทับหลังแบบเกาะแกร์จำนวนมากที่สุดในดินแดนไทย สะท้อนให้เห็นถึงกระแรธารทางวัฒนธรรมซึ่งอาจรวมถึงการเมืองการปกครองจากกัมพูชา ที่มีเหนือพื้นที่นี้

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เกาะแกร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 15
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ลัทธิ/นิกายไศวนิกาย
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพราหมณ์ไศวนิกาย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-02
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

มานิต วัลลิโภดม. นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2530.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. โบราณสถานจังหวัดนครราชสีมา. พระนคร : สมาคมเพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรม, 2509.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. บรรณาธิการ. ปราสาทหินและทับหลัง. กรุงเทพฯ : โครงสืบสานมรดกและวัฒนธรรมไทย, 2542.