ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมทับหลังจากปราสาทเขาน้อยหลังกลาง
การสลักเป็นรูปมกรสองตัวที่ปลายขอบทั้งสองข้างหันหน้าเข้าภายในคายวงโค้งออกมาสี่วง เหมือมกรมีรูปบุคคลขี่เบื้องบนกับเบื้องล่างของมกรมีฐานมารองรับ บริเวณกึ่งกลางและที่เสี้ยวที่ลายวงโค้งมาบรรจบกันปรากฏลายวงรูปไข่หรือวงรูปเหรียญสามวง ที่ขอบวงโค้งทั้งสี่วงมีลายประคำประดับอยู่โดยรอบ ส่วนที่ขอบของลายวงรูปเหรียญมีทั้งลายลูกประคำและลายใบไม้ม้วนประกอบอยู่ ภายในวงรูปเหรียญมีรูปเทวดาทรงพาหนะวงละหนึ่งองค์ ในขณะที่ภายในลายวงโค้งสองวงกลางมีลายดอกไม้สี่กลีบประดับอยู่ เหนือลายวงโค้งมีลายใบไม้ตั้งขึ้น ส่วนเบื้องล่างของลายวงโค้งสลักเป็นลายพวงมาลัยสลับกับพวงอุบะ ภายในลายพวงมาลัยมีลายใบไม้แหลมหยักอยู่พวงละหนึ่งใบ ส่วนพวงอุบะล้วนมีขนาดเท่ากันหมดทุกพวง รายละเอียดที่กล่าวมานี้สามารถเปรียบเทียบได้จากทับหลังปราสาทสมโบร์ไพรกุกหมู่ใต้ หลังที่ 7
สถาปัตยกรรมปราสาทกู่พันนา
ประกอบด้วยปราสาทประธานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมหนึ่งหลัง ตั้งอยู่กึ่งกลางภายในกำแพงศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เครื่องบนของปราสาทประธานนั้นพังทลายลงไป ส่วนประตูทางเข้าออกนั้นด้านเดียวทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอก ประตูทางเข้าออกนี้ทำเป็นห้องยาวๆ ด้านหน้าเป็นมุข ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานปรากฏเฉพาะส่วนฐานของบรรณาลัยสร้างด้วยศิลาแลงในผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนกึ่งกลางของกำแพงศิลาแลงด้านทิศตะวันออกนั้นปรากฏซุ้มประตูหรือโคปุระในผังจัตุรัสรูปกากบาท และภายนอกกำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีสระน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน
สถาปัตยกรรมปราสาทพนมวัน
อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลุ่มปราสาทประธานประกอบด้วยตัวปราสาทประธาน อันตราละ และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกันปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม มีซุ้มมุขและประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ โดยมีมุขทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับอันตราละคือฉนวนหรือมุขกระสันซึ่งทำเป็นทางผ่านไปยังมณฑปที่อยู่ทางด้านหน้า มณฑปนั้นมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศเช่นเดียวกับปราสาทประธาน และมีหลังคาเป็นรูปโค้งทรงประทุน ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยแนวระเบียงคดซึ่งมีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ละมุมทั้ง 4 ของระเบียงคดยังปรากฏซุ้มทิศขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมออกมุมมีประตูทางเข้าและประตูที่เชื่อมต่อกับปีกโคปุระทั้ง 2 ด้านส่วนทางทิศใต้ของปราสาทประธานในเขตระเบียงคดมีปราสาทขนาดย่อมลงมาเรียกกันว่าปรางค์น้อย มีผังแบบเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนของเรือนธาตุก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ปัจจุบันส่วนยอดได้พังทลายลงมาแล้ว องค์ปราสาทยังไม่มีการสลักลวดลายตกแต่งลงไปเป็นเพียงโครงสร้างรูปปราสาทเท่านั้น จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นสันนิษฐานว่าปรางค์น้อยนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินทราย นอกจากนี้ภายในระเบียงคดยังพบแนวฐานอาคารอิฐหลายหลังอยู่ล้อมรอบปราสาทประธานอีกด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊อกก๊อกธม
ประกอบไปด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกทางเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทประธานมีสภาพไม่สมบูรณ์ก่อด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีเสานางเรียงหรือเสานางจรัลปักอยู่โดยรอบ มีบรรณาลัยสองหลังในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานตามลำดับ อาคารทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีประตูทางเข้าหรือที่เรียกว่าโคปุระทางทิศตะวันออก ส่วนระเบียงคดด้านทิศตะวันตกปรากฏห้องยาวคั่นอยู่กึ่งกลาง ส่วนพื้นที่ระหว่างระเบียงคดและกำแพงแก้วนั้นขุดคูน้ำล้อมรอบ กำแพงแก้วนั้นก่อด้วยศิลาแลง มีโคปุระหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันออกและมีฉนวนหรือทางเดินปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อกันเป็นแนวตรงระหว่างโคปุระของระเบียงคดและโคปุระของกำแพงแก้ว มีเสานางเรียงปักตามแนวทั้งสองข้างทอดยาวไปจนถึงคันดินสระน้ำทางทิศตะวันออกนอกกำแพงแก้ว
ประติมากรรมปราสาทนครวัดจำลอง
ปราสาทนครวัดจำลองอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปราสาทประธานอยู่กึ่งกลางของแผนผังโดยมีความสูงมากที่สุด ล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่มีความสูงลดหลั่นลงมา 3 ชั้น ระเบียงคดแต่ละชั้นประกอบด้วยเสาและหลังคาที่ทอดยาวเชื่อมต่อกัน โดยมีโคปุระหรือประตูทางเข้าที่กลางด้าน และที่มุมทั้ง 4 มีหน้าบันซ้อนชั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการจำลองแบบ ดังนั้นสัดส่วนและรายละเอียดต่างๆ จึงแตกต่างจากปราสาทนครวัดในศิลปะเขมร โดยจะพบว่าส่วนยอดของปราสาทประธานและบริวารมีลักษณะคล้ายส่วนยอดของปรางค์ในศิลปะไทย
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบจัตุรมุข โดยมีมุขด้านเหนือและใต้ที่ขยายให้ยาวกว่ามุขตะวันออกและตะวันตก ด้านหน้าที่มุขตะวันออกมีสีหบัญชรสำหรับเสด็จออกมหาสมาคม ด้านหลังของพระที่นั่งใช้บันไดประชิดซึ่งเป็นบันไดที่ขนานไปกับตัวอาคารและมีราวบันไดเพียงข้างเดียวสำหรับเป็นบันไดขึ้นสู่พระที่นั่ง โดยมีช่องประตูเตี้ยๆ ใต้บันไดเพื่อเข้าสู่ใต้ชั้นต่ำของพระที่นั่ง หลังคาซ้อนชั้นประกอบด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้อง 2 สี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกสี ส่วนกลางของหลังคาจัตุรมุขประดับเครื่องยอดแบบพระมหาปราสาท
ประติมากรรมพระบรมรูป 4 รัชกาล
พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดพระพายหลวง
ปราสาทวัดพระพายหลวงตั้งเป็นประธานของวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก โดยสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมต่อเนื่องกันมาหลายยุค นับแต่ครั้งก่อนสุโขทัย สุโขทัยตอนต้น และสุโขทัยตอนปลาย ตัววัดล้อมรอบด้วยคู้น้ำ เรียกว่า ห้วยแม่โจนตัวปราสาทวัดพระพายหลวงเป็นปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูนและประดับปูนปั้น ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทั้ง 3 หลังอยู่ในผังเพิ่มมุมปราสาทหลังกลางและใต้พังทลายลงเหลือเพียงฐานและเรือนธาตุ ปราสาทหลังเหนือยังสมบูรณ์จนถึงส่วนยอดที่เป็นชั้นซ่อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 4 ชั้น ยอดสุดเป็นกลศ จากสภาพปัจจุบันยังคงสังเกตเห็นได้ว่าปราสาทหลังกลางมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 หลัง ซึ่งเป็นระเบียบโดยทั่วไปของศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร งานปูนปั้นประดับดั้งเดิมยังคงเห็นชัดเจนได้ที่ปราสาทหลังเหนือ (ลายปูนปั้นหลายส่วนปั้นใหม่โดยกรมศิลปากร) ที่น่าสนใจคือภาพพุทธประวัติที่หน้าบัน ทิศใต้เป็นตอนปลงพระเกศา ทิศเหนือเป็นตอนกองทัพพญามารกำลังผจญพระพุทธเจ้า และทิศตะวันตกน่าจะเป็นตอนชนะมารและตรัสรู้