ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระบรมธาตุไชยา
คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท, พระบรมธาตุไชยา, วัดพระบรมธาตุไชยา, จันทิ, ศิลปะชวา
ชื่อหลัก | วัดพระบรมธาตุไชยา วรวิหาร |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | เวียง |
อำเภอ | ไชยา |
จังหวัด | สุราษฎร์ธานี |
ภาค | ภาคใต้ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 9.384582 Long : 99.184218 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 520226.35 N : 1037376.32 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางเขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มียอดเป็นองค์ระฆังทำให้นักวิชาการหลายท่านนำไปเปรียบเทียบกับจันทิในศิลปะชวาที่นิยมสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-15 จึงทำเชื่อว่าพระบรมธาตุไชยาน่าจะสร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งในขณะนั้นภาคใต้ของไทยอยู่ภายใต้การเมืองการปกครองของอาณาจักรศรีวิชัย ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด ครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยการร่วมแรงร่วมใจของคนในท้องถิ่น นำโดยพระชยาภิวัฒน์ (หนู ติสโส) เห็นได้ชัดเจนจากงานปูนปั้นประดับและรูปแบบของส่วนยอดที่เทียบได้กับศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | พระบรมธาตุไชยาได้ขึ้นบัญชีโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 การบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ในยุคปัจจุบันมีอยู่ 4 ครั้งใหญ่ ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2472 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ครั้งหนึ่งแต่ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าซ่อมแซมสิ่งใดบ้าง เข้าใจว่าเป็นการซ่อมบูรณะส่วนที่ชำรุดโดยทั่วไปทั้งองค์และคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเดิมที่มีอยู่แต่อย่างใด ครั้งที่สองในปีพ.ศ. 2500 สมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดินในการบูรณะเป็นเงิน 500,000 บาท คงซ่อมแซมพระบรมธาตุโดยการปรับปรุงส่วนเล็กๆน้อยๆและทาสี ครั้งที่สามในปีพ.ศ. 2510 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดพระบรมธาตุไชยา บูรณะเจดีย์พระบรมธาตุในส่วนปลีกย่อย เป็นต้นว่าทำความสะอาดและทาสี แต่ไม่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ ครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ. การบูรณะในรัชกาลปัจจุบัน ราวปีพ.ศ. 2521 – 2522 เนื่องด้วยกรมศิลปากรได้พิจารณาเห็นความสำคัญของพระบรมธาตุไชยาในฐานะปูชนียสถานและโบราณสถานแห่งชาติ จึงได้มีการดำเนินการบูรณะเจดีย์ครั้งใหญ่ โดยมอบหมายให้กองสถาปัตยกรรมและกองโบราณคดีร่วมกันจัดการ โดยแบ่งโครงการบูรณะออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรก คือการบูรณปฏิสังขรณ์พระระเบียงรอบเจดีย์พระบรมธาตุทั้งหมด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง เป็นผู้ดำเนินการ ระยะที่สอง ได้แก่การบูรณะองค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา โดยซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดตั้งแต่ฐานถึงยอด เป็นการซ่อมของเก่าที่มีอยู่เดิมให้คงสภาพดี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดำเนินงานโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง เป็นผู้ดำเนินการ ระยะที่สาม คือการบูรณะองค์เจดีย์เพิ่มเติม โดยการลงรักปิดทองบัวปากระฆังบน ปลีปล้องไฉนทั้งหมด ลวดลายซุ้มประตูทางเข้าภายในองค์เจดีย์ บริเวณดังกล่าวนี้ได้รับการทาสีในการบูรณะระยะที่สอง การบูรณะครั้งนี้จึงต้องขัดผิวปูนที่ติดสีออกให้สะอาด ประสะผิวปูนให้จืดสนิทแล้วจึงลงรักปิดทอง และทาสีทับองค์พระบรมธาตุใหม่ โดยพยายามให้สีกลมกลืนกับสีที่ทาไว้ในการบูรณะระยะที่สอง และให้อยู่ในลักษณะที่น่าเคารพศรัทธาของคนทั่วไป เปลี่ยนฉัตรใหม่ การบูรณะเพิ่มเติมนี้กรมศิลปากรได้จ้างห้างหุ่นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง เริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2522 กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มียอดเป็นองค์ระฆัง ก่ออิฐถือปูน ด้านล่างสุดเป็นฐานไพที มีแผนผังสี่เหลี่ยมประดับด้วยเสาหลอกหรือเสาอิงเป็นระยะ มียกเก็จทางด้านตะวันออก มีบันไดทางขึ้นสู่เรือนธาตุอยู่ทางด้านตะวันออกนี้ ด้านบนของฐานไพทีนอกจากจะมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดเป็นองค์ระฆังแล้ว ยังแวดล้อมด้วยเจดีย์ทรงกลมตั้งบนฐานบัวสี่เหลี่ยม 6 องค์ เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์ระฆังอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานบัวที่มีแผนผังยกเก็จล้อตามแผนผังของเรือนธาตุ โดยตัวเรือนธาตุมีแผนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมทั้งสี่ เก็จที่กลางด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นมุขยื่นยาว มุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านทึบตัน เก็จที่มุมทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก ส่วนยอดถัดขึ้นไปจากส่วนเรือนธาตุ ประกอบด้วยชั้นซ้อน 2 ชั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบ จากนั้นเป็นบัวคลุ่ม องค์ระฆังแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลี อันเป็นระเบียบของเจดีย์ทรงกลม |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | นอกจากจะเป็นพระบรมธาตุคู่บ้านคู่เมืองที่ได้รับการนับถือบูชาของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและคนภาคใต้แล้ว พระบรมธาตุไชยายังถือว่าเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัยด้วย แม้ว่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยหลังแล้ว แต่โครงสร้างและรูปแบบในภาพรวมอันเทียบได้กับจันทิในศิลปะชวา เช่น เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีครรภคฤหะอยู่ภายใน ชั้นซ้อนมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบ ยอดสุดเป็นองค์ระฆัง จึงเชื่อว่าพระบรมธาตุไชยายังคงรักษาโครงสร้างดั้งเดิมตั้งแต่แรกสร้างครั้งศรีวิชัยไว้ได้ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ศรีวิชัย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 13-15 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา (เมื่อแรกสร้างน่าจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามหายาน แต่ภายหลังได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นพระธาตุเจดีย์เนื่องในพุทธศาสนาเถรวาท) |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | จันทิในศิลปะชวาภาคกลาง เช่น จันทิปะวน จันทิเมนดุต จันทิกลาสัน จันทิเซวู |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-09-10 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ฉวีงาม มาเจริญ. พระบรมธาตุไชยา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525. ศิลปากร, กรม. ประวัติพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบทความเรื่องอาณาจักรศรีวิชัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2520. |