ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปราสาทวัดพระพายหลวง

คำสำคัญ : ปราสาทหิน, ปราสาทเขมร

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักวัดพระพายหลวง
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.029207
Long : 99.699035
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 574397.6
N : 1882919.04
ตำแหน่งงานศิลปะกลางศาสนสถาน

ประวัติการสร้าง

ปราสาทวัดพระพายหลวงทั้ง 3 หลังไม่ปรากฏหลักฐานลายลักษณ์อักษรระบุศักราชการสร้างและชื่อผู้สร้าง แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมซึ่งเป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ เทียบได้กับศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรในดินแดนไทยที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทำให้เชื่อว่าปราสาทวัดพระพายหลวงสร้างขึ้นในระยะเวลาดังกล่าวนี้เช่นกัน และคงสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนามหายานซึ่งแพร่หลายอยู่ในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อล่วงสู่สมัยสุโขทัยวัดพระพายหลวงยังคงเป็นศาสนสถานที่สำคัญ จึงมีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆเพิ่มเติม รวมทั้งมีการบูรณะเปลี่ยนแปลงปราสาทวัดพายพลวงด้วย เช่น การปรับทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะของปราสาทหลังกลางจากทางด้านตะวันออกเป็นตะวันตก สร้างพระพุทธรูปปูนปั้นไว้ภายในครรภคฤหะ
ประวัติการอนุรักษ์

ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการขุดแต่งและบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยลำเลียงศิลาแลงออกจากฐานปรางค์ บูรณะปรางค์ที่ยังสมบูรณ์อยู่ไม่ให้ชำรุดอีกต่อไป โดยดำเนินการที่ปราสาทสามหลังเพื่อป้องกันไม่ให้ชำรุด มีการขุดแต่งเจดีย์ประธานทางด้านทิศตะวันออกของวัด ภายหลังได้พบพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มที่เรียงกันอยู่ตามชั้น

ต่อมาในปีพ.ศ. 2508 – 2512 กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งวัดนี้อีกครั้งโดยคุณมะลิ โคกสันเทียะ ได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะที่ปราสาททั้ง 3 หลังอีกครั้ง มีการขุดแต่งที่ฐานปรางค์ขยายออกไปที่วิหารและเจดีย์ พร้อมกับบูรณะวิหาร เจดีย์ราย และมณฑป

การดำเนินการทางโบราณคดีครั้งต่อมาเกิดขึ้นระหว่างพ.ศ. 2528 – 2529 ผู้ควบคุมการขุดค้นคือคุณสด แดงเอียด ครั้งนี้ได้ดำเนินการที่เจดีย์ประธานด้านตะวันออกของวัด ได้พบวัตถุปูนปั้นจำนวนมากที่ ได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูป พระสาวก เทวดาหรือบุคคลชั้นสูง และชิ้นส่วนลวดลายประดับเจดีย์
ลักษณะทางศิลปกรรม

ปราสาทวัดพระพายหลวงตั้งเป็นประธานของวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก โดยสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมต่อเนื่องกันมาหลายยุค นับแต่ครั้งก่อนสุโขทัย สุโขทัยตอนต้น และสุโขทัยตอนปลาย ตัววัดล้อมรอบด้วยคู้น้ำ เรียกว่า ห้วยแม่โจน

ตัวปราสาทวัดพระพายหลวงเป็นปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูนและประดับปูนปั้น ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทั้ง 3 หลังอยู่ในผังเพิ่มมุม

ปราสาทหลังกลางและใต้พังทลายลงเหลือเพียงฐานและเรือนธาตุ ปราสาทหลังเหนือยังสมบูรณ์จนถึงส่วนยอดที่เป็นชั้นซ่อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 4 ชั้น ยอดสุดเป็นกลศ

จากสภาพปัจจุบันยังคงสังเกตเห็นได้ว่าปราสาทหลังกลางมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 หลัง ซึ่งเป็นระเบียบโดยทั่วไปของศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร

งานปูนปั้นประดับดั้งเดิมยังคงเห็นชัดเจนได้ที่ปราสาทหลังเหนือ (ลายปูนปั้นหลายส่วนปั้นใหม่โดยกรมศิลปากร) ที่น่าสนใจคือภาพพุทธประวัติที่หน้าบัน ทิศใต้เป็นตอนปลงพระเกศา ทิศเหนือเป็นตอนกองทัพพญามารกำลังผจญพระพุทธเจ้า และทิศตะวันตกน่าจะเป็นตอนชนะมารและตรัสรู้
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ปราสาทวัดพระพายหลวงเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพื้นทีที่เป็นเมืองเก่าสุโขทัยเคยอยู่ภายใต้กระแสธารทางวัฒนธรรม และอาจเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ของอาณาจักรเขมรโบราณ

ข้อสังเกตอื่นๆ

วัดพระพายหลวงในสมัยแรกสร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีปราสาทประธาน 3 หลังตั้งอยู่กึ่งกลาง ขณะที่สิ่งก่อสร้างอื่นที่ร่วมสมัยกันไม่เหลือหลักฐานแล้ว ศาสนสถานแห่งนี้ล้อมรอบด้วยคูน้ำคือห้วยแม่โจน มีอาณาบริเวณกว้างขวางราว 26-27 ไร่ ทำให้นึกถึงศาสนสถานในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หลายแห่ง เช่น ปราสาทพระขรรค์ ปราสาทตาพรหม ที่ทำปราสาทประธานตั้งอยู่กลางศาสนสถาน กำแพงที่ล้อมรอบศาสนสถานอยู่ไกลออกไป ทำให้ศาสนสถานมีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก เชื่อว่าคงมีพระ ข้าพระ และผู้คน อาศัยอยู่ภายในพื้นที่นี้พอสมควร

สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย
อายุพุทธศตวรรษที่ 18
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-09-02
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถานจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าสุโขทัย พ.ศ. 2508 – 2512 พระนคร : กรมศิลปากร, 2512.

ภาวิณี รัตนเสรีสุข. “วัดพระพายหลวง: แนวความคิดใหม่จากผลการขุดตรวจทางโบราณคดีกับงานวิเคราะห์แบบอย่างสถาปัตยกรรม”, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.