ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปราสาทนครวัดจำลอง

คำสำคัญ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดพระแก้ว, ปราสาทนครวัดจำลอง

ชื่อหลักวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ชื่ออื่นวัดพระแก้ว
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.751735
Long : 100.492377
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661350.8
N : 1520768.63
ตำแหน่งงานศิลปะฐานไพที ระหว่างพระมหามณฑปกับพระศรีรัตนเจดีย์

ประวัติการสร้าง

เมื่อ พ.ศ.2410 รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระสามภพพ่ายเดินทางไปถ่ายแบบเพื่อจำลองปราสาทนครวัดในกัมพูชามาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ รวมทั้งเหตุผลตามพระราชประสงค์ที่ทรงต้องการให้จำลองปราสาทนครวัดไว้ว่า

“...แลเมื่อ ณ เดือน 3 แรม 13 ค่ำ ปีขาล อัฐศก โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระสามภพพ่ายเดินทางไปถ่ายแบบปราสาทที่พระนครวัด จะจำลองทำขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของอัศจรรย์ ทำด้วยศิลาทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งไรปน พระสามภพพ่ายกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร ณ เดือน 7 ขึ้น 9 ค่ำ กราบทูลว่าได้ถ่ายแบบเขียนรูปปราสาทแลพระระเบียงเข้ามา...”

ในครั้งนั้นพระสามภพพ่ายผู้ไปถ่ายแบบปราสาทนครวัดได้บรรยายองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจากการเดินทางไปสำรวจไว้อย่างละเอียดดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 แต่การสร้างปราสาทนครวัดจำลองมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี เมื่อ พ.ศ.2425 จำลองแบบโดยหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ผู้กำกับกรมช่างศิลาและช่างสิบหมู่
กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อปูน

ประวัติการอนุรักษ์

ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525

ลักษณะทางศิลปกรรม

ปราสาทนครวัดจำลองอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปราสาทประธานอยู่กึ่งกลางของแผนผังโดยมีความสูงมากที่สุด ล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่มีความสูงลดหลั่นลงมา 3 ชั้น ระเบียงคดแต่ละชั้นประกอบด้วยเสาและหลังคาที่ทอดยาวเชื่อมต่อกัน โดยมีโคปุระหรือประตูทางเข้าที่กลางด้าน และที่มุมทั้ง 4 มีหน้าบันซ้อนชั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการจำลองแบบ ดังนั้นสัดส่วนและรายละเอียดต่างๆ จึงแตกต่างจากปราสาทนครวัดในศิลปะเขมร โดยจะพบว่าส่วนยอดของปราสาทประธานและบริวารมีลักษณะคล้ายส่วนยอดของปรางค์ในศิลปะไทย

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้สร้างปราสาทนครวัดจำลองไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้ประชาชนได้เห็นปราสาทแบบเขมรที่สร้างด้วยศิลาทั้งหลัง นับเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมในศิลปะเขมรซึ่งอยู่ในเขตประเทศราชของสยามในขณะนั้นแต่การสร้างปราสาทนครวัดจำลองนี้ได้เสร็จสิ้นลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ที่โปรดเกล้าฯ ให้จำลองปราสาทนครวัดมาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากที่เคยมีพระราชประสงค์ให้รื้อปราสาทแบบเขมรบางแห่งลงแล้วมาสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณที่ทรงกำหนด เช่น ที่พระนครคีรี และวัดปทุมวนาราม แต่พระราชประสงค์ในครั้งนั้นไม่อาจเป็นผลสำเร็จเนื่องจากข้าราชการที่เดินทางไปปฏิบัติราชการตามพระบรมราชโองการถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปราสาทเหล่านั้นสร้างจากหินและมีขนาดใหญ่เกินกำลังที่จะรื้อมาได้ และเมื่อรื้อลงแล้วไม่แน่ว่าจะสามารถสร้างกลับขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิมได้ พระราชประสงค์ในเรื่องนี้จึงยุติลงและในเวลาต่อมาจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทนครวัดจำลองขึ้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นการจำลองศาสนสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของกัมพูชามาไว้ภายในวัดคู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพราหมณ์
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “ศิลปกรรมแบบเขมรในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ 34 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2557), หน้า 65-84.

กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 : ภาคที่ 1 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : สำนักพระราชวัง, 2534.