ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปราสาทภูมิโปน

คำสำคัญ : ปราสาทเขมร, ปราสาทภูมิโปน, ปราสาทประธาน, ปราสาทขอม

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักปราสาทภูมิโปน
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลดม
อำเภอสังขะ
จังหวัดสุรินทร์
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.548072
Long : 103.876578
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 P
Hemisphere : N
E : 378967.01
N : 1608639.92
ตำแหน่งงานศิลปะกลางศาสนสถาน

ประวัติการสร้าง

ไม่พบหลักฐานเอ่ยถึงประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมของปราสาทประธาน เช่น การใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก แผนผังอาคารที่เป็นสี่เหลี่ยม ไม่มีระบบเพิ่มมุม-ย่อมุม ลวดลายสลักของหินที่วางอยู่เหนือทับหลัง สะท้อนว่าเป็นงานที่สร้างขึ้นในช่วงก่อนเมืองพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13

สำหรับปราสาทหลังเล็กที่อยู่ทางเหนือเคยมีทับหลังและเสาประดับกรอบประตูติดตั้งอยู่ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กำหนดให้เป็นศิลปะแบบไพรกเมง อายุราว พ.ศ.1200-1250 เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระองค์กำหนดอายุปราสาทประธานว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ.1200-1250 ด้วย ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายทับหลังไปรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
ลักษณะทางศิลปกรรม

ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยอาคารขนาดต่างๆ เรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ 4 หลัง อาคารหลังอื่นๆ ยกเว้นปราสาทประธานเหลือแต่เพียงส่วนฐาน ในขณะที่ปราสาทประธานมีสภาพสมบูรณ์จนถึงยอดปราสาท

ปราสาทประธานก่อด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านอื่นๆ อีกสามด้านเป็นประตูหลอก มุมทั้งสี่ตกแต่งเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก เหนือขึ้นไปเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 2-3 ชั้น

ภายในครรภคฤหะมีสภาพเป็นหลุมขนาดใหญ่ ไม่พบแท่นฐานและรูปเคารพดั้งเดิม มุมทั้งสี่มีรอยหลุมเสา ผนังด้านเหนือมีท่อโสมสูตรหินทรายฝังอยู่ภายใน
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ปราสาทภูมิโปนเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรช่วงก่อนเมืองพระนครที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด เป็นตัวแทนในการศึกษาศิลปกรรม การตั้งถิ่นฐาน และความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนไทยกับกัมพูชาในระยะแรกเริ่มประวัติศาสตร์ได้

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย
อายุพุทธศตวรรษที่ 12-13
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพราหมณ์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-08-26
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า, ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

อรพินธุ์ การุณจิตต์, ทะเบียนโบราณสถานขอมในประเทศไทย, เล่ม 3. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.