ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดอนขุมเงิน
คำสำคัญ : ปราสาทหิน, ปราสาทเขมร, ดอนขุมเงิน
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | ดอนขุมเงิน |
ชื่ออื่น | - |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | เด่นราษฎร์ |
อำเภอ | หนองฮี |
จังหวัด | ร้อยเอ็ด |
ภาค | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 15.555815 Long : 103.940716 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 48 P Hemisphere : N E : 386413.05 N : 1720084.74 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | แกนกลางศาสนสถาน |
ประวัติการสร้าง | ได้ค้นพบแท่นฐานประดิษฐานโคที่มีจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน (ราว พ.ศ. 1150-1159) ในศาสนสถานแห่งนี้ โดยข้อความจารึกเป็นภาษาสันสกฤต อักษรปัลลวะ แปลโดยสุรสิทธิ์ ไทยรัตน์ ได้ความว่า พระราชาผู้ทรงพระนามว่า จิตรเสน ผู้เป็นพระนัดดาของพระศรีสารวเภามะ เป็นพระโอรสของพระศรีวีรวรมัน โดยแท้จริงแล้วแม้ว่าทรงพระอนุชาตามศักดิ์ แต่ทรงได้เป็นพระภราดาของพระศรีภววรมัน ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ต่อจากนั้นมาจึงทรงได้รับการขนานพระนามใหม่ว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน พระองค์ได้แสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระศิวะผู้ทรงพระนามว่า พระพฤษธวัช ได้สร้างรูปพระโค (สร้างรูปพระพฤษภแทนองค์พระศิวะ) ที่ตกแต่งด้วยศิลาอย่างดี ขณะที่ทรงสำเร็จความสมประสงค์ที่พระองค์ทรงมีชัยชนะอยู่เหนือราชอาณาจักรทั้งปวง พระองค์ทรงมีพระปัญญาปราดเปรื่องที่สมบูรณ์ด้วย (ความยิ่งใหญ่ในการปราบข้าศึกศัตรู) ทรงมีพระดำรัสถึงเรื่องโบราณราชประเพณีที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทรงใฝ่พระทัยอยู่ทุกขณะที่จะปราบปรามศัตรูให้อยู่ในอำนาจ ด้วยการระมัดระวังกองทัพมิให้ประมาท บำรุงรักษากำลังกองทัพด้วยดี และจัดระเบียบกองทัพให้เข้มแข็ง จากข้อความดังกล่าวที่เอ่ยถึงพระเจ้ามเหนทรวรมันว่าสร้างรูปโคประดิษฐานไว้บนแท่นฐานที่พบจารึก ทำให้นักวิชาการเชื่อว่าศาสนสถานแห่งนี้ควรสร้างขึ้นในสมัยของพระองค์ด้วย |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 114 ตอนที่พิเศษ 80 ง วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2540 และได้ดำเนินการทางโบราณคดีที่นี่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 – เดือนมกราคม พ.ศ. 2549 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | จากสภาพปัจจุบันซึ่งพังทลายและถูกรื้อทำลายอย่างมาก ทำให้เห็นว่าศาสนสถานแห่งนี้มีหลายอย่างที่ผิดแปลกไปจากปราสาทในวัฒนธรรมเขมรอื่นๆ ทั่วไป เช่น หินทรายที่นำมาใช้ก่อสร้างมิได้มีความหนาเฉกเช่นหินทรายตามปราสาทหินทั่วไป หินทรายบางจุดนำมาก่อในลักษณะของแนวคันเขื่อนมากกว่านำมาเรียงก่อเป็นตัวสถาปัตยกรรมแบบปราสาทหิน แผนผังของศาสนสถานหลังนี้ประกอบด้วยอาคารประธานหินทราย สภาพพังทลายและถูกรื้อทำลายจนเหลือแต่ฐาน สันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมได้ยาก ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของอาคารประธานมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมที่กรุผนังบ่อด้วยหินทราย มีขั้นบันไดลงสู่บ่อด้วย ถัดออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ใช้หินทรายก่อเป็นแนวคันเขื่อน ภายในค้นพบฐานประดิษฐานโคที่มีจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน พื้นที่โดยรอบยังเห็นหินทรายที่ก่อเป็นแนวกำแพงเป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังค้นพบแนวท่อโสมสูตรอยู่ทางทิศตะวันตกด้วย เข้าใจว่าเป็นแนวที่ทอดยาวมาจากห้องครรภคฤหะหรือสระน้ำ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | ศาสนสถานแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ค้นพบฐานรูปเคารพที่มีจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน (ราว พ.ศ. 1150-1159) กษัตริย์กัมพูชายุคแรกเริ่ม เชื่อกันว่าศาสนสถานหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยของพระองค์ หากเป็นจริงย่อมหมายความว่าเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนไทย และเป็นตัวแทนสำหรับศึกษาศิลปะเขมรในประเทศไทยยุคแรกเริ่ม ก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครแบบสมโบร์ไพรกุก ......... หินทรายจำนวน 4 ก้อนที่ใช้กรุผนังบ่อน้ำมีจารึกเป็นตัวอักษรตัวเดียวปรากฏอยู่ ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ได้อ่านและแปลจารึกบนก้อนหินทรายนี้ ได้แสดงความเห็นว่าเป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 เหมือนกันกับจารึกบนฐานประดิษฐานโคที่สร้างโดยพระเจ้ามเหนทรวรมัน หินทรายก้อนแรกอยู่ทางผนังด้านเหนือใกล้ก้นบ่อมีจารึกรูปอักษร “ล” ก้อนที่สองอยู่ทางผนังด้านใต้ใกล้ก้นบ่อมีจารึกรูปอักษร “ช” ก้อนที่สามอยู่ทางผนังด้านตะวันตกใกล้ปากบ่อมีจารึกรูปอักษร “ป” ก้อนสุดท้ายหลุดออกมาจากตำแหน่งเดิมแต่สันนิษฐานว่าเคยอยู่ที่ผนังด้านตะวันออกใกล้ปากบ่อ มีจารึกรูปอักษร “ย” รูปอักษรเหล่านี้เป็นพระนามของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์แต่ละองค์ “ล” คือพระศิวะ “ช” คือพระวิษณุ “ป” คือนางปารพตี และ “ย” คือพระลักษมี จารึกรูปอักษรเหล่านี้จึงทำขึ้นเนื่องในพิธีกรรมความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ โดยอาจเกี่ยวข้องกับการเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นได้ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | ศาสนสถานหลังนี้มีลักษณะหลายประการที่แตกต่างไปจากศาสนสถานเขมร เช่น แผนผังที่ให้ความสำคัญกับบ่อน้ำโดยตั้งอยู่หน้าปราสาทประธาน ขนาดของหินทรายที่ไม่หนามากนักเมื่อเทียบกับความกว้างและยาว และวิธีการก่อเรียงที่ใช้สันหรือด้านหน้าปักลงดิน แลดูคล้ายคันเขื่อน เหล่านี้แตกต่างไปจากศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรทั่วไป อาจเพราะเป็นศาสนสถานที่รุ่นแรกเริ่มที่ระบบระเบียบตามแบบแผนของปราสาทเขมรยังไม่ลงตัว |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ลพบุรี, เขมรในประเทศไทย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 12 รัชกาลพระเจ้ามเหนทรวรมัน |
ศาสนา | พราหมณ์-ฮินดู |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พราหมณ์ |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-08-16 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “จารึกที่บ่อน้ำบริเวณแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน” ศิลปากร, ปีที่ 51, ฉบับที่ 2 2 (มีนาคม – เมษายน 2550), หน้า 27 – 35. ทศพร ศรีสมาน, “จารึกพระเจ้าจิตรเสน บนฐานรูปเคารพหินทรายที่พบจากแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน” ศิลปากร, ปีที่ 50, ฉบับที่ 2 (มีนาคม – เมษายน 2550), หน้า 45-48. |