ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 9 รายการ, 2 หน้า
หอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม

หอไตรวัดระฆังโฆสิตารามเป็นเรือนแฝด 3 หลัง อย่างเรือนไทยโบราณเครื่องสับฝาปะกน ฝาเรือนภายในเรียบเสมอกันเหมาะแก่การเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ตัวเรือนยกพื้น มีใต้ถุนสูง ประตูเรือนเป็นไม้แกะสลักรูปนกวายุภักษ์จับลายกระหนก พื้นปูไม้กระดานขนาดใหญ่ ช่องหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ หย่องหน้าต่างเป็นลูกมะหวดกลึง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ปั้นลมโบกปูนหุ้มไว้ ไม่ประดับเครื่องลำยอง มีชานชาลายื่นออกมาที่ด้านหน้าเรือนต่อกับบันไดทางขึ้น ชานชาลามีซุ้มประตูและบานประตูไม้แกะสลักเป็นลายกระหนกและนาคพัน ปิดทองประดับกระจก คันทวยรับชายคาสลักเป็นรูปนาคปิดทองประดับกระจก เช่นเดียวกับกรอบหน้าต่างและลูกกรงหน้าต่าง

พระตำหนักแดง
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระตำหนักแดง

ตำหนักแดงมีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียว ความยาว 7 ห้อง มีเฉลียงที่ด้านหน้า มีเสารองรับชายคาจำนวน 15 ต้น หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด ทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ฝาเรือนเป็นฝาปะกนลูกฟัก บานประตูหน้าต่างมีอกเลา ลักษณะเด่นของตำหนักแดงคือ พระแกลหรือหน้าต่างที่มีฐานสิงห์ประกอบอยู่ที่ตอนล่าง ซึ่งจะไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน รูปแบบของพระตำหนักแดงเป็นตัวอย่างสำคัญของพระตำหนักที่ประทับที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ตำหนักจิตรลดา
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตำหนักจิตรลดา

ตำหนักจิตรลดาเป็นอาคารแบบอิตาเลียนวิลล่า แผนผังเป็นรูปตัว U อย่างไม่สมมาตร มีระเบียงทางด้านหน้าและหลัง และมีโถงกลางอาคารเพื่อระบายอากาศ หลังคาทรงปั้นหยา ชายคายื่นพอประมาณ ป ระตูหน้าต่างประดับลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษาแบบเรขาคณิต ช่องประตูหน้าต่างเป็นสี่เหลี่ยมที่ประดับด้านบนด้วยแนววงโค้ง ภายในแบ่งเป็นห้องชุดได้แก่ ห้องพระบรรทม ห้องทรงงาน การตกแต่งภายในเป็นศิลปกรรมแบบบาร็อค เน้นความหรูหรา ส่วนห้องที่ไม่ใช้งานสำคัญตกแต่งอย่างเรียบง่าย รูปแบบศิลปะคล้ายกับการตกแต่งพระที่นั่งอัมพรสถานเนื่องจากเป็นงานออกแบบของสถาปนิกคนเดียวกันและอยู่ภายในพระราชวังดุสิตเช่นกัน

พระปั้นหย่า
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระปั้นหย่า

พระปั้นหย่าเป็นสถาปัตยกรรมทรงตึกอย่างตะวันตกที่ผสมกับจีน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีลวดบัวขนาดใหญ่คาดรอบอาคารเพื่อแบ่งชั้นอาคารให้เห็นได้อย่างชัดเจน หลังคาพระปั้นหย่ามุงด้วยกระเบื้องและประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบแบบจีนเป็นรูปดอกไม้ใบไม้อย่างเทศ กลางหน้าบันประดับรูปพระมหามงกุฎ สองข้างขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระนามเจ้าฟ้ามงกุฎ ผนังอาคารภายนอกเรียบง่าย ไม่ประดับลวดลาย กรอบประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยม

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมรูปเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชอิริยาบถประทับยืนตรง ทรงฉลองพระองค์เยียรบับ ทรงพระภูษาโจงขอบเชิง พระมาลาทรงหม้อตาล ทรงสายสะพายแบบเลจิอองดอนเนอร์ของฝรั่งเศส ทรงฉลองพระบาท พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบหัตถ์นารายณ์ ทอดปลายพระแสงดาบลงพื้น พระหัตถ์ซ้ายทรงถือหนังสือ

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
นครปฐม
สถาปัตยกรรมพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์เป็นพระตำหนักสองชั้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันด้านหน้าซึ่งเป็นด้านยาวไปทางทิศเหนือ ปลายสุดของด้านสกัดตะวันออก – ตะวันตกเป็นระเบียงโค้งครึ่งวงกลม มุมอาคารทั้ง 4 ทำเป็นเสากลมซึ่งมีชั้นบนใหญ่กว่าชั้นล่าง ปลายสุดทำเป็นทรงกรวยสองชั้น บริเวณทางเข้าด้านหน้าทำเป็นเสาคล้ายเสาที่มุมแต่สูงกว่า ยอดด้านหนึ่งทำทรงกรวยสองชั้นแต่แหลมสูงกว่าเสาที่มุม ยอดอีกด้านหนึ่งทำเป็นหลังคาจัตุรมุขมีหลังคาปีกนกรับโดยรอบ ชั้นล่างมีห้องใต้บันได ห้องโถงบันได ห้องโถงปีกตะวันตกและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทมและห้องสรง

พระตำหนักดอยตุง
เชียงราย
สถาปัตยกรรมพระตำหนักดอยตุง

พระตำหนักดอยตุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ผสมผสานสถาปัตยกรรมล้านนาและชาเลต์ของสวิสส์ ผนังด้านนอกปิดด้วยปีกไม้สักทอง ผนังด้านในบุด้วยไม้สนภูเขา ชั้นบนจะเสมอกับลานกว้างของยอดเนินเขา ชั้นล่างจะลดหลั่นไปตามเนินเขา ชั้นบนแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นท้องพระโรงซึ่งมีชั้นยกใต้หลังคาสำหรับเก็บของ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และที่ประทับของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงครามเหนือจั่วหลังคาพระตำหนักเป็นกาแลจำหลักลาย เชิงชายแกะลายเมฆไหล ตามขอบหน้าต่างและระเบียงแกะสลักเป็นภาพการดำเนินชีวิตของชาวเหนือเกี่ยวกับช้างและป่าไม้ ภายในห้องประดับด้วยไม้แกะสลักศิลปะพื้นบ้านเป็นรูปดอกไม้ กลุ่มดาวและสัตว์ผนังเชิงบันไดสู่ชั้นล่างแกะเป็นตัวอักษรภาษาไทย ตรงลูกกรงเป็นไม้จำหลักรูปเลขไทย ภายในท้องพระโรงบุฝาผนังด้านหนึ่งด้วยผ้าไหมปักรูปดอกไม้ และประดับภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ เสาบางต้นแขวนผ้าครอสติชเป็นรูปต่างๆ หน้าประตูห้องบรรทมเป็นผ้าตัวอักษรภาษาอังกฤษล้อมด้วยดอกไม้ตามอักษรขึ้นต้น ด้านหลังพระตำหนักเป็นระเบียงยาว บริเวณกระบะสำหรับปลูกดอกไม้แกะสลักภาพโขลงช้างในป่าและช้างทำงาน ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามหญ้าและสวนดอกไม้ ชั้นล่างเป็นส่วนที่พักและที่ทำการของข้าราชบริพาร บนผนังจารึกบทกวีของสุนทรภู่เรื่องสุนทรภู่ ด้านหน้าสวนหน้าพระตำหนักไปทางด้านที่ประทับมีสวนครัวเล็กๆส่วนพระองค์ ทำแปลงผัก

ตำหนักพรรณราย
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตำหนักพรรณราย

ตำหนักพรรณรายเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้นหลังคาจั่ว หน้าบันทรงสามเหลี่ยมมีปูนปั้นรูปวงกลม 3 วงซ้อนกัน ขอบหน้าบันส่วนที่ติดกับหลังคาทำปูนปั้นคล้ายแพรระบาย ตัวอาคารไม่มีชายคา เสารับหลังคามีทั้งแบบเสาสี่เหลี่ยมเรียบและเสากลมที่มีหัวเสาเป็นใบอะแคนธัสและฐานเสาแบบตะวันตก ระหว่างเสามีกันสาดโครงไม้ เหนือช่องหน้าต่างตกแต่งเท้าแขนไม้รูปวงกลม หน้าต่างเป็นแบบบานเกล็ด