ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระตำหนักแดง
คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, วังหน้า, พระราชวังบวรสถานมงคล, พระตำหนักแดง
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
---|---|
ชื่ออื่น | พระราชวังบวรสถานมงคล, วังหน้า |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.757707 Long : 100.491819 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661285.68 N : 1521429.44 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ด้านหน้าหมู่พระวิมาน |
ประวัติการสร้าง | สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสุดารักษ์ เดิมเป็นหมู่พระตำหนักตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง คู่กันกับพระตำหนักเขียวซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระเทพสุดาวดี ในlสมัยรัชกาลที่ 4 หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จบวรราชาภิเษกแล้ว จึงโปรดให้ย้ายพระตำหนักแดงมาปลูกรักษาไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่พระวิมาน |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯ มายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทอดพระเนตรพระตำหนักแดงซึ่งชำรุดทรุดโทรมอยู่ ทรงพระปรารภว่าเป็นของโบราณสร้างอย่างประณีตพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เคยเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระไปยิกา และสมเด็จพระอัยยิกา กับทั้งสมเด็จพระปิตุลาธิราชเจ้ามาแต่ก่อน จึงทรงบริจาคทรัพย์ในส่วนพระองค์ประทานเพื่อปฏิสังขรณ์เฉลิมพระเกียรติยศของพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อการปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ได้เสด็จฯ มาทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระตำหนักแดง เนื่องในการเฉลิมพระชันษาครบ 66 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2471 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ตำหนักแดงมีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียว ความยาว 7 ห้อง มีเฉลียงที่ด้านหน้า มีเสารองรับชายคาจำนวน 15 ต้น หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด ทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ฝาเรือนเป็นฝาปะกนลูกฟัก บานประตูหน้าต่างมีอกเลา ลักษณะเด่นของตำหนักแดงคือ พระแกลหรือหน้าต่างที่มีฐานสิงห์ประกอบอยู่ที่ตอนล่าง ซึ่งจะไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน รูปแบบของพระตำหนักแดงเป็นตัวอย่างสำคัญของพระตำหนักที่ประทับที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระตำหนักแดงเป็นตัวอย่างสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีที่สร้างจากเครื่องไม้ ซึ่งสามารถถอดประกอบชิ้นส่วนต่างๆ แล้วเคลื่อนย้ายไปปลูกสร้างในที่แห่งอื่นได้ และเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะพบว่าแต่เดิมรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักแดงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสุดารักษ์ ต่อมาได้มีการย้ายพระตำหนักแดงไปสร้างในพระราชวังเดิมเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จบวรราชาภิเษก จึงได้โปรดให้ย้ายพระตำหนักแดงซึ่งเคยเป็นที่ประทับพร้อมกับสมเด็จพระราชชนนีมาสร้างไว้ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ศิลปะในราชสำนัก |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-06-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | บริบาลบุรีภัณฑ์, หลวง. เรื่องตำนานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงเทพฯ. พระนคร: กรมศิลปากร, 2480. จิรา จงกล. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548. |