ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระตำหนักดอยตุง

คำสำคัญ : พระตำหนักดอยตุง, ดอยตุง

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักพระตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย
ชื่ออื่นดอยตุง, เชียงราย
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลแม่ฟ้าหลวง
อำเภอแม่ฟ้าหลวง
จังหวัดเชียงราย
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 20.287851
Long : 99.809983
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 584575.51
N : 2243542.72
ตำแหน่งงานศิลปะบนสันเขาของเทือกเขาดอยนางนอน

ประวัติการสร้าง

พระตำหนักดอยตุงสร้างโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และสร้างตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ขอเช่าจากกรมป่าไม้เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งส่วนราชการและเอกชนได้น้อมเกล้าฯ ถวายการสนับสนุน โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นฝ่ายออกแบบ มีนายทรงศักดิ์ ทวีเจริญ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักตามพระราชประสงค์ เพื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีจะได้ทรงประทับทรงงานดูแลการฟื้นฟูสภาพป่าดอยตุง แทนการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระบวนการสร้าง/ผลิต

-

ประวัติการอนุรักษ์

-

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระตำหนักดอยตุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ผสมผสานสถาปัตยกรรมล้านนาและชาเลต์ของสวิสส์ ผนังด้านนอกปิดด้วยปีกไม้สักทอง ผนังด้านในบุด้วยไม้สนภูเขา ชั้นบนจะเสมอกับลานกว้างของยอดเนินเขา ชั้นล่างจะลดหลั่นไปตามเนินเขา ชั้นบนแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นท้องพระโรงซึ่งมีชั้นยกใต้หลังคาสำหรับเก็บของ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และที่ประทับของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม

เหนือจั่วหลังคาพระตำหนักเป็นกาแลจำหลักลาย เชิงชายแกะลายเมฆไหล ตามขอบหน้าต่างและระเบียงแกะสลักเป็นภาพการดำเนินชีวิตของชาวเหนือเกี่ยวกับช้างและป่าไม้ ภายในห้องประดับด้วยไม้แกะสลักศิลปะพื้นบ้านเป็นรูปดอกไม้ กลุ่มดาวและสัตว์ผนังเชิงบันไดสู่ชั้นล่างแกะเป็นตัวอักษรภาษาไทย ตรงลูกกรงเป็นไม้จำหลักรูปเลขไทย

ภายในท้องพระโรงบุฝาผนังด้านหนึ่งด้วยผ้าไหมปักรูปดอกไม้ และประดับภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ เสาบางต้นแขวนผ้าครอสติชเป็นรูปต่างๆ หน้าประตูห้องบรรทมเป็นผ้าตัวอักษรภาษาอังกฤษล้อมด้วยดอกไม้ตามอักษรขึ้นต้น

ด้านหลังพระตำหนักเป็นระเบียงยาว บริเวณกระบะสำหรับปลูกดอกไม้แกะสลักภาพโขลงช้างในป่าและช้างทำงาน ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามหญ้าและสวนดอกไม้

ชั้นล่างเป็นส่วนที่พักและที่ทำการของข้าราชบริพาร บนผนังจารึกบทกวีของสุนทรภู่เรื่องสุนทรภู่ ด้านหน้าสวนหน้าพระตำหนักไปทางด้านที่ประทับมีสวนครัวเล็กๆส่วนพระองค์ ทำแปลงผัก
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระตำหนักดอยตุงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แม้จะเป็นที่ประทับของพระบรมวงศ์ชั้นสูงแต่พระตำหนักดอยตุงเป็นอาคารที่เน้นความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์ การออกแบบสถาปัตยกรรมของพระตำหนักเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบล้านนา กับบ้านพื้นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีโปรดเรียกพระตำหนักหลังนี้ว่า “บ้านของฉันบนดอยตุง” และ “บ้านที่ดอยตุง” โดยมีพระราชกระแสว่า “ฉันไม่สร้างบ้านอยู่ที่นี่ ถ้าไม่มีโครงการพัฒนาดอยตุง”

ข้อสังเกตอื่นๆ

เนื่องจากที่พระตำหนักดอยตุงสร้างขึ้นเพื่อให้สมเด็จพระบรมราชชนนีประทับแทนการแปรพระราชฐานไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้นอาคารพระตำหนักจึงใช้อาคารแบบชาเลต์ของสวิตซ์ ผสมผสานกับอาคารแบบล้านนาซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนัก คือ จังหวัดเชียงราย

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 26
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องศิลปะในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2017-05-03
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

จันทรนีย์ (อูนากูล) พงษ์ประยูร. มองบ้านเพดานดาว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2555

ดอยตุง. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. เชียงราย: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, 2550

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. การพัฒนาท่องเที่ยวดอยตุง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2535.