ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 6 จาก 6 รายการ, 1 หน้า
เจดีย์ประธาน
เชียงราย
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ฐานล่างเป็นฐานเขียง 1 ฐานในผังสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานบัวคว่ำอีก 1 ฐานรองรับด้วยลูกแก้วอกไก่ขนาดใหญ่ 1 ลูกรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ในผังยกเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมมีการยกเก็จเพื่อออกซุ้มจระนำ เรือนธาตุประดับด้วยบัวเชิง ลูกแก้วอกไก่มีการตวัดปลายเล็กน้อย และบัวรัดเกล้า ยังมีร่องรอยของการประดับด้วยลายกาบบนและกาบล่าง ส่วนยอดมีหลังคาเอนลาด ต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ในผัง 12 เหลี่ยม 3 ฐาน โดยประดับลูกแก้วอกไก่เฉพาะฐานล่างเท่านั้น ส่วนรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังกลม องค์ระฆังในผังกลม บัวแวงหรือปัทมบาท ปล้องไฉนและปลียอด ส่วนยอดมีฉัตร

เจดีย์ประธาน
เชียงราย
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียว ฐานเขียงด้านล่างอยู่ในผังสี่เหลี่ยม 1 ฐานรองรับฐานเขียงในผังยกเก็จ 28 จำนวน 4 ฐาน ต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย 2 ฐานต่อกันยืดท้องไม้สูงในผังยกเก็จ 28 ปลายเส้นลวดสะบัดขึ้นเล็กน้อย เรือนธาตุยกเก็จ 28 มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน เหนือเรือนธาตุมีหลังคาลาด ต่อด้วยฐานบัวคว่ำ ชุดฐานบัวคว่ำบัวหงาย 3 ฐานในผัง 12 เหลี่ยม รองรับองค์ระฆังที่มีบัวปากระฆัง องค์ระฆังและบัลลังก์อยู่ในผังกลม ต่อด้วยบัวแวงหรือปัทมบาทรองรับปล้องไฉนและปลี

พระตำหนักดอยตุง
เชียงราย
สถาปัตยกรรมพระตำหนักดอยตุง

พระตำหนักดอยตุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ผสมผสานสถาปัตยกรรมล้านนาและชาเลต์ของสวิสส์ ผนังด้านนอกปิดด้วยปีกไม้สักทอง ผนังด้านในบุด้วยไม้สนภูเขา ชั้นบนจะเสมอกับลานกว้างของยอดเนินเขา ชั้นล่างจะลดหลั่นไปตามเนินเขา ชั้นบนแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นท้องพระโรงซึ่งมีชั้นยกใต้หลังคาสำหรับเก็บของ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และที่ประทับของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงครามเหนือจั่วหลังคาพระตำหนักเป็นกาแลจำหลักลาย เชิงชายแกะลายเมฆไหล ตามขอบหน้าต่างและระเบียงแกะสลักเป็นภาพการดำเนินชีวิตของชาวเหนือเกี่ยวกับช้างและป่าไม้ ภายในห้องประดับด้วยไม้แกะสลักศิลปะพื้นบ้านเป็นรูปดอกไม้ กลุ่มดาวและสัตว์ผนังเชิงบันไดสู่ชั้นล่างแกะเป็นตัวอักษรภาษาไทย ตรงลูกกรงเป็นไม้จำหลักรูปเลขไทย ภายในท้องพระโรงบุฝาผนังด้านหนึ่งด้วยผ้าไหมปักรูปดอกไม้ และประดับภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ เสาบางต้นแขวนผ้าครอสติชเป็นรูปต่างๆ หน้าประตูห้องบรรทมเป็นผ้าตัวอักษรภาษาอังกฤษล้อมด้วยดอกไม้ตามอักษรขึ้นต้น ด้านหลังพระตำหนักเป็นระเบียงยาว บริเวณกระบะสำหรับปลูกดอกไม้แกะสลักภาพโขลงช้างในป่าและช้างทำงาน ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามหญ้าและสวนดอกไม้ ชั้นล่างเป็นส่วนที่พักและที่ทำการของข้าราชบริพาร บนผนังจารึกบทกวีของสุนทรภู่เรื่องสุนทรภู่ ด้านหน้าสวนหน้าพระตำหนักไปทางด้านที่ประทับมีสวนครัวเล็กๆส่วนพระองค์ ทำแปลงผัก

บ้านดำ
เชียงราย
สถาปัตยกรรมบ้านดำ

ตัวอาคารแต่ละหลังได้รับการออกแบบให้มีแนวคิด และความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงสิ่งที่สะสมและจัดแสดงภายในบ้าน เช่น บ้านล้านนา บ้านล้านช้าง ภายในจัดแสดงเครื่องเงิน เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ต่างๆ อาคารมหาวิหาร สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในจัดการแสดงศิลปะ ทั้งถาวรและหมุนเวียน หรืออูบหัวนกกกที่ได้แรงบันดาลใจจากนกเงือก ด้านในเป็นที่อยู่อาศัย อาคารทั้งหมดล้วนทาสีดำ

อุโบสถวัดร่องขุ่น
เชียงราย
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดร่องขุ่น

มีสะพานข้ามไปยังอุโบสถซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ใช้โทนสีขาว เงินและทอง ตัวอาคารทั้งหมดประดับหน้าบันด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจกทั้งสิ้น ทั้งลายเครือเถา กระหนกเปลว ประติมากรรมรูปสัตว์ในคัมภีร์ผสมผสานกับจินตนาการของศิลปิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางแสดงธรรม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ผสมผสานกับรูปทรงเชิงนามธรรมทั้งทางโลกและทางธรรมอุโบสถหลังนี้มีการผสมผสานหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้ากับทั้งตัวอาคาร ประติมากรรมและสี เช่นสีขาว หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ากระจกขาว หมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าสะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารสู่พุทธภูมิสันของสะพานซึ่งประดับด้วยรูปอสูรอมกันข้างละ 8 ตัว หมายถึง อุปกิเลส 18กึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมรุ ดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นพระอุโบสถ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์บันไดทางขึ้น 3 ขั้น หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่อฟ้าบนสันหลังคา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา

เจดีย์วัดป่าสัก
เชียงราย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดป่าสัก

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดป่าสัก ได้แก่ ส่วนฐานซึ่งประกอบด้วยฐานเขียงและฐานบัว ที่ท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนประดับด้วยช่องแปดเหลี่ยมโดยรอบ คล้ายกับส่วนฐานของสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ส่วนเรือนธาตุชั้นล่างเป็นช่อจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 3 ซุ้ม มีซุ้มสลับซุ้มจระนำรูปเทวดา ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนี้จึงมีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์กู่กุดในศิลปะหริภุญชัย ถัดขึ้นมาเป็นชุดเขียงรองรับเรือนธาตุชั้นที่สอง ซึ่งมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 1 องค์ ประดับลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มจระนำซึ่งสัมพันธ์กับศิลปะพุกามอย่างที่เรียกว่าซุ้มเคล็ก ส่วนยอดเป็นส่วนของเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ และมีเจดีย์ขนาดเล็กหรือสถูปิกะประดับที่มุมทั้ง 4 องค์เจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจีน