ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์วัดป่าสัก

คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท

ชื่อหลักวัดป่าสัก
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเวียง
อำเภอเชียงแสน
จังหวัดเชียงราย
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 20.273021
Long : 2242061.06
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 612528.07
N : 2242061.06
ตำแหน่งงานศิลปะท้ายวิหารกึ่งกลางของแผนผัง

ประวัติการสร้าง

พงศาวดารภาคที่ 61 ให้ข้อมูลว่าพระเจ้าแสนภูโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นภายหลังจากสร้างเมืองเชียงแสน 4 ปี โดยตั้งอยู่นอกประตูเมือง ปลูกต้นสัก 300 ต้น จึงเรียกชื่ออารามนี้ว่า “อารามป่าสัก” ทั้งนี้ในชินกาลมาลีปกรณ์ระบุศักราชสร้างเมืองเชียงแสนว่าตรงกับ พ.ศ. 1871 ดังนั้นวัดป่าสักน่าจะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1875

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 74 ตอนที่ 96 วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500

ลักษณะทางศิลปกรรม

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดป่าสัก ได้แก่ ส่วนฐานซึ่งประกอบด้วยฐานเขียงและฐานบัว ที่ท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนประดับด้วยช่องแปดเหลี่ยมโดยรอบ คล้ายกับส่วนฐานของสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ส่วนเรือนธาตุชั้นล่างเป็นช่อจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 3 ซุ้ม มีซุ้มสลับซุ้มจระนำรูปเทวดา ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนี้จึงมีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์กู่กุดในศิลปะหริภุญชัย ถัดขึ้นมาเป็นชุดเขียงรองรับเรือนธาตุชั้นที่สอง ซึ่งมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 1 องค์ ประดับลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มจระนำซึ่งสัมพันธ์กับศิลปะพุกามอย่างที่เรียกว่าซุ้มเคล็ก ส่วนยอดเป็นส่วนของเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ และมีเจดีย์ขนาดเล็กหรือสถูปิกะประดับที่มุมทั้ง 4 องค์เจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจีน

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1.เจดีย์วัดป่าสักเป็นตัวอย่างของเจดีย์ทรงปราสาทยอดหรือทรงปราสาทห้ายอดรุ่นแรกในศิลปะล้านนาที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบให้กับเจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์อื่นๆในสายวิวัฒนาการเดียวกันของศิลปะล้านนา

2.เป็นเจดีย์ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะหริภุญชัย ล้านนา พุกาม รวมทั้งจีน

สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 19
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1.มีความเกี่ยวข้องทางด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมกับเจติยวิหารหรือกู่ปยาในศิลปะพุกาม

2.ลวดลายปูนปั้น เช่น ลายพรรณพฤกษา มีความเกี่ยวข้องกับศิลปะจีน

3.มีรูปแบบใกล้เคียงกันกับเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดรุ่นแรกในล้านนา พบหลักฐานที่เมืองเชียงแสน เช่น พระธาตุสองพี่น้อง (องค์ด้านทิศใต้) และในเชียงใหม่ เช่น เจีดย์เชียงยันในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-09
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2516.

ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.