ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์ประธาน

คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท, ศิลปะล้านนา, เจดีย์ประธาน, เชียงแสน, วัดพระธาตุจอมกิตติ, วัดพระธาตุจอมกิติ

ชื่อเรียกอื่นเจดีย์ทรงปราสาทยอด
ชื่อหลักวัดพระธาตุจอมกิตติ
ชื่ออื่นวัดพระธาตุจอมกิติ
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเวียง
อำเภอเชียงแสน
จังหวัดเชียงราย
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 20.286222
Long : 100.074095
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 612156.46
N : 2243519.64
ตำแหน่งงานศิลปะตั้งอยู่บนยอดดอยจอมกิตติ

ประวัติการสร้าง

ตามตำนานกล่าวว่าสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร และมีการบูรณะหลายครั้ง ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งคือในปี พ.ศ. 2228 โดยเจ้าฟ้าเฉลิมเมืองและชาวเมืองเชียงแสน

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ฐานล่างเป็นฐานเขียง 1 ฐานในผังสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานบัวคว่ำอีก 1 ฐานรองรับด้วยลูกแก้วอกไก่ขนาดใหญ่ 1 ลูกรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ในผังยกเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมมีการยกเก็จเพื่อออกซุ้มจระนำ เรือนธาตุประดับด้วยบัวเชิง ลูกแก้วอกไก่มีการตวัดปลายเล็กน้อย และบัวรัดเกล้า ยังมีร่องรอยของการประดับด้วยลายกาบบนและกาบล่าง ส่วนยอดมีหลังคาเอนลาด ต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ในผัง 12 เหลี่ยม 3 ฐาน โดยประดับลูกแก้วอกไก่เฉพาะฐานล่างเท่านั้น ส่วนรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังกลม องค์ระฆังในผังกลม บัวแวงหรือปัทมบาท ปล้องไฉนและปลียอด ส่วนยอดมีฉัตร

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เจดีย์ทรงปราสาทในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. ลายกาบบนอยู่ในกรอบวงโค้งหลายวงเป็นทรงสามเหลี่ยม ภายในประดับลายเครือล้านนาที่มีลักษณะที่พัฒนาไปมากแล้ว มีการตกแต่งด้วยตัวมอม ซึ่งนิยมในศิลปะพม่ายุคหลัง

2. เจดีย์องค์นี้มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผัง 12 เหลี่ยมจึงน่าจะมีอายุร่วมสมัยหรือหลังกว่าพระธาตุดอยสุเทพ คือ อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 22

3. ส่วนฐานของเจดีย์องค์นี้มีฐานลูกแก้วอกไก่ที่มีส่วนฐานบัวคว่ำมีลูกแก้วรองรับ อันเป็นลักษณะเฉพาะของส่วนฐานเจดีย์ในเชียงแสนและสัมพันธ์กับฐานเจดีย์ในศิลปะล้านช้าง เช่น พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 22
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานกล่าวว่า พระธาตุจอมกิตติเริ่มสร้างโดยพระเจ้าสิงหนวัติกุมารเพื่อประดิษฐานพระเกศาธาตุที่ได้รับจากพระพุทธเจ้า ต่อมาในปี พ.ศ. 1483 พระเจ้าพังคราชและพระเจ้าพรหมมหาราชพระราชโอรส ได้รับพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏจากลังกา พระมหาเถระจากสุธรรมวดีได้นำมามอบให้ พระองค์จึงได้ให้พระเจ้าพรหมมหาราชสร้างเจดีย์บนดอยน้อยหรือดอยจอมกิตติเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีความกว้าง 3 วา สูง 6 วา 2 ศอก เสร็จในปี พ.ศ. 1483 ต่อมาหมื่นเชียงสง เจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสน ได้ทำการซ่อมแซมเจดีย์ในปี พ.ศ. 2030 และได้รับการบูรณะอีกครั้งโดยเจ้าฟ้าเฉลิมเมืองพร้อมกับราษฎรชาวเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 2228 จากตำนานเราจะเห็นลักษณะของตำนานทางล้านนาที่มักพูดถึงการมาหรือการได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า ซึ่งพบตำนานนี้ในตำนานการสร้างเจดีย์อื่นๆในล้านนาด้วย

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. เจดีย์วัดผ้าขาวป้าน เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตัวอย่างเจดีย์ทรงปราสาทในศิลปะล้านนา ที่มีอายุสมัยใกล้เคียงกับเจดีย์วัดพระธาตุจอมกิตติ

2. พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย เจดีย์ในศิลปะล้านช้างที่มีลักษณะชุดฐานคล้ายกับเจดีย์วัดพระธาตุจอมกิตติและเจดีย์หลายองค์ในเชียงแสน

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-23
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในเขตรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรม, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะเมืองเชียงแสน : วิเคราะห์งานศิลปกรรมร่วมสมัยกับหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2551.

ศิลปากร, กรม. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61. พิมพ์ครั้งที่ 3. ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2516.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.