ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
คำสำคัญ :
ชื่อหลัก | พระราชวังสนามจันทร์ |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | สนามจันทร์ |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | นครปฐม |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.818844 Long : 100.045969 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 613048.53 N : 1527937.99 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ มีอนุสาวรีย์ย่าเหลอยู่ด้านหน้า |
ประวัติการสร้าง | พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์สร้างขึ้นราวพ.ศ. 2453 สำหรับประทับเมื่อเสด็จมาซ้อมรบเสือป่า โดยมีสถาปนิกคือหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เดิมเรียกว่าพระตำหนักเหล ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักใหม่ว่า พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | คอนกรีตเสริมเหล็กและก่ออิฐฉาบปูน |
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 98ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม 2478 มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2535 – 30 กันยายน พ.ศ. 2536 โดยบริษัทดำรงก่อสร้างวิศว จำกัด ใช้เงินในการบูรณะทั้งสิ้น 8,000,000 บาท โดยได้ทำการบูรณะบริเวณหลังคา ฝ้าเพดาน พื้นชั้นล่างและชั้นบน เสา ผนัง ลาดลาย ประตู หน้าต่าง ช่องลม บันได ห้องสรง ห้องน้ำใต้บันไดและห้องส่งเครื่อง สำนักพระราชวังได้ทำการบูรณะพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 2550 โดยมอบหมายให้นายวัชรกิติ วัชโรทัยเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานและได้รับงบประมาณจารัฐบาล ได้ทำการสกัดรอยร้าวตามจุดต่างๆและส่วนที่ชำรุด สกัดผิวปูนบริเวณฝ้าและในตัวอาคารที่ชำรุดเพื่อฉาบผิวปูนใหม่ |
ขนาด | กว้าง 12 เมตร ยาว 23 เมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์เป็นพระตำหนักสองชั้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันด้านหน้าซึ่งเป็นด้านยาวไปทางทิศเหนือ ปลายสุดของด้านสกัดตะวันออก – ตะวันตกเป็นระเบียงโค้งครึ่งวงกลม มุมอาคารทั้ง 4 ทำเป็นเสากลมซึ่งมีชั้นบนใหญ่กว่าชั้นล่าง ปลายสุดทำเป็นทรงกรวยสองชั้น บริเวณทางเข้าด้านหน้าทำเป็นเสาคล้ายเสาที่มุมแต่สูงกว่า ยอดด้านหนึ่งทำทรงกรวยสองชั้นแต่แหลมสูงกว่าเสาที่มุม ยอดอีกด้านหนึ่งทำเป็นหลังคาจัตุรมุขมีหลังคาปีกนกรับโดยรอบ ชั้นล่างมีห้องใต้บันได ห้องโถงบันได ห้องโถงปีกตะวันตกและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทมและห้องสรง |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เดิมเรียกพระตำหนักเหล ตามนามของย่าเหล สุนัขแสนรู้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ อันมีความหมายว่า ที่ประทับอันเป็นสิริมงคล โดยได้ชื่อมาจากยาร์เลต์ ตัวละครเอกในบทละครเรื่อง My Friend Jarlet มีรูปแบบศิลปะแบบโรแมนติกที่ผสมผสานปราสาทแบบเรอเนซองส์ของฝรั่งเศสและอาคารแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ เป็นอาคารที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอนุสาวรีย์ที่สะท้อนแนวความคิดในการแปรความเชิงนามธรรมจากวรรณกรรมสู่งานสถาปัตยกรรมมากกว่าประโยชน์ใช้สอยของอาคาร เนื่องจากทรงได้แรงบันดาลใจในการสร้างพระตำหนักหลังนี้มาจากวรรณกรรมโรแมนติกเรื่อง My Friend Jarlet ของ Arnold golsworthy และ E.B. Norman แม้พระตำหนักหลังนี้จะสร้างด้วยศิลปะตะวันตกแต่ก็ได้ดัดแปลงส่วนอื่นให้เข้ากับภูมิอากาศของประเทศไทย โดยการทำระเบียงลูกกรงและช่องลมเพื่อระบายอากาศ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | - |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ศิลปะในราชสำนัก |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | - |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. ปราสาทเชอนองโซ(Chenonceau) ประเทศฝรั่งเศส ปราสาทริมแม่น้ำแชร์ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้รัชกาลที่ 6 ออกแบบพระตำหนักชาลีมงคลาอาสน์ โดยนำรูปแบบด้านหน้าของปราสาทส่วนที่เป็นหอคอยมาใช้ 2. พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พระตำหนักที่สร้างคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอีกแห่งที่มีการทำช่องลมและระเบียงลูกกรงเพื่อให้เหมาะสมกับอากาศเมืองร้อน |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2017-07-29 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | มหาวิทยาลัยศิลปากร. พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์และพระราชวังสนามจันทร์. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539. มหาวิทยาลัยศิลปากร. พระราชวังสนามจันทร์และเสือป่ากับการรักษาความมั่นคงของชาติ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย, 2550. โกสินทร์ รตนประเสริฐ. เลาะรั้วชมวัง. กรุงเทพฯ: ยิปซี, 2557. เฉลิมฉลอง 100 ปี พระราชวังสนามจันทร์. กรุงเทพฯ: พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต สำนักพระราชวัง, 2551. |