ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

หอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม

คำสำคัญ : วัดระฆัง, วัดระฆังโฆสิตาราม, หอไตรวัดระฆัง, หอไตร

ชื่อเรียกอื่น ตำหนักจันทน์
ชื่อหลัก วัดระฆังโฆสิตาราม
ชื่ออื่นวัดบางหว้าใหญ่
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลศิริราช
อำเภอเขตบางกอกน้อย
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.752396
Long : 100.485216
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 660575.93
N : 1520837.51
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

หอไตรวัดระฆังโฆสิตารามเป็นที่ประทับเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตั้งแต่ยังทรงรับราชการในตำแหน่งพระราชวรินทร์ในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งได้ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะอุทิศตำหนักถวายเป็นศาสนสมบัติ จึงโปรดให้รื้อตำหนักเดิมมาปลูกไว้ที่หลังพระอุโบสถ วัดบางหว้าใหญ่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2331 หลังจากเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการสังคายนาพระไตรปิฎก จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักจากหลังพระอุโบสถมาสร้างเป็นหอพระไตรปิฎกในสระที่ขุดขึ้นใหม่ โดยปลูกเป็นเรือนไม้แฝด 3 หลัง ประกอบด้วย หอกลาง หอนั่งซึ่งอยู่ทางซ้าย และหอนอนซึ่งอยู่ทางขวา และโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นจันทน์จำนวน 8 ต้น จึงเรียกตำหนักนี้ว่า ตำหนักจันทน์

กระบวนการสร้าง/ผลิต

เรือนไม้เครื่องสับ

ประวัติการอนุรักษ์

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ.2492

พ.ศ.2511 พระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาสในขณะนั้น มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์หอไตร จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎก ซึ่งมีศาสตราจารย์ หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ทรงเป็นประธาน การบูรณะได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2513 โดยรื้อและเคลื่อนย้ายหอไตรจากที่เดิม มายังบริเวณลานพระอุโบสถในเขตพุทธาวาส ทางด้านตะวันตก ซึ่งมีกำแพงโดยรอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นประเดิมในการบูรณปฏิสังขรณ์ และได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2514

พ.ศ.2524 บริษัท เชลล์ ประเทศไทย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นทุนสำหรับการบูรณปฏิสังขรณ์หอไตร โดยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นผู้ควบคุมงานบูรณปฏิสังขรณ์และอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม
ลักษณะทางศิลปกรรม

หอไตรวัดระฆังโฆสิตารามเป็นเรือนแฝด 3 หลัง อย่างเรือนไทยโบราณเครื่องสับฝาปะกน ฝาเรือนภายในเรียบเสมอกันเหมาะแก่การเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ตัวเรือนยกพื้น มีใต้ถุนสูง ประตูเรือนเป็นไม้แกะสลักรูปนกวายุภักษ์จับลายกระหนก พื้นปูไม้กระดานขนาดใหญ่ ช่องหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ หย่องหน้าต่างเป็นลูกมะหวดกลึง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ปั้นลมโบกปูนหุ้มไว้ ไม่ประดับเครื่องลำยอง มีชานชาลายื่นออกมาที่ด้านหน้าเรือนต่อกับบันไดทางขึ้น ชานชาลามีซุ้มประตูและบานประตูไม้แกะสลักเป็นลายกระหนกและนาคพัน ปิดทองประดับกระจก คันทวยรับชายคาสลักเป็นรูปนาคปิดทองประดับกระจก เช่นเดียวกับกรอบหน้าต่างและลูกกรงหน้าต่าง

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

หอไตรวัดระฆังโฆสิตารามเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเป็นตำหนักที่ประทับเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ยังทรงรับราชการเป็นที่พระราชวรินทร์ในสมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงยกย่องหอไตรแห่งนี้ว่าเป็นแบบอย่างงานช่างฝีมือในรัชกาลที่ 1 ที่ควรชม โดยมีความงดงามแปลกตากว่าหอไตรแห่งอื่นเนื่องจากเป็นเรือนแฝด 3 หลัง งานประดับบางแห่งยังแสดงถึงฝีมือช่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น กระเบื้องชายคารูปกระจังเทพนม และงานไม้แกะสลักประกอบส่วนอื่นๆ รวมทั้งยังมีงานช่างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่สำคัญ เช่น ซุ้มประตูกลางที่เป็นงานไม้แกะสลักซึ่งกล่าวกันว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์นาค วัดทองเพลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคเชิงช่างโบราณบางประการที่น่าสนใจ เช่น การประกอบไม้เข้าเรือนแบบโบราณ การใช้เสาบากประกบกันโดยใช้สลักเหล็กแทนเดือยไม้ พื้นกระดานที่ทำจากไม้แผ่นใหญ่ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน การตั้งวางตู้พระไตรปิฎกในหอนั่งและหอนอน โดยตู้พระไตรปิฎกมีขนาดใหญ่กว่าประตูเรือน ทำให้ไม่สารถเคลื่อนย้ายตู้พระธรรมออกไปได้ แสดงถึงความชาญฉลาดและภูมิปัญญาโบราณ
ยุคประวัติศาสตร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องมฆมานพ, จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกกุมภกรรณและศึกอินทรชิต, ตู้พระธรรมลายรดน้ำ

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ศิลปกรรมและช่างไทยจากสาส์นสมเด็จ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรบริการ, 2512.

นิวัติ กองเพียร. หอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์, 2526.