ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 49 ถึง 56 จาก 884 รายการ, 111 หน้า
ปราสาทเมืองแขก
นครราชสีมา
สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองแขก

ปราสาทเมืองแขกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ก่อด้วยหินทรายและอิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ สิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง ระเบียงคด ซุ้มประตูหรือโคปุระ กำแพงแก้ว สระน้ำ และปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็กลักษณะผังโบราณสถานแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 หรือส่วนในสุด ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยหินทรายและอิฐตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หัวหน้าไปทางทิศเหนือ เฉพาะองค์ปรางค์หรือปราสาทประธานมีมุขหรือมณฑปซึ่งมีลักษณะเป็นห้องต่อออกมาทางด้านหน้า มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง พบฐานประติมากรรมหินทรายที่ครรภคฤหะของปราสาทประธานและปราสาทหลังด้านทิศตะวันออก อาคารทั้งสามหลังเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐานและตัวอาคารบางส่วน รวมทั้งที่ปราสาทประธานยังคงหลงเหลือช่องหน้าต่างและลูกมะหวด เสาประดับกรอบประตู กรอบประตูหินทราย และทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ด้านบนกรอบประตูหน้าสุดหรือส่วนมณฑปด้านข้างองค์ปรางค์ประธานมีฐานอาคารก่อด้วยอิฐ 2 หลัง อยู่ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันด้านหน้าเข้าสู่ปราสาทประธาน อาจเป็นวิหารหรือบรรณาลัย ในส่วนแรกนี้มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของกำแพงมีอาคารอิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อขนานยาวไปกับกำแพง อาคารหลังนี้มีประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ ยังคงหลงเหลือเสาประดับกรอบประตูอยู่ที่ประตูด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระชั้นในอยู่ด้านเดียวคือด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ (มีช่องประตู 3 ช่อง) ที่ยังคงหลงเหลือกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตูหินทราย นอกจากนี้ยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยอิฐอีก 2 หลังที่มุมกำแพงแก้วด้านหน้าของปราสาทประธาน ข้างโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นในด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือทั้ง 2 ด้าน ซ้ายและขวา โดยอาคารด้านขวามีทางเดินปูอิฐเชื่อมกับอาคารยาวที่ขนานไปกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกส่วนที่ 2 เป็นกำแพงชั้นนอก ซึ่งขุดเป็นสระเกือบจะล้อมรอบโบราณสถาน เว้นเพียงส่วนกลางด้านหน้า โดยใช้ดินที่ได้จากการขุดสระทำเป็นคันกำแพงล้อมรอบกำแพงแก้วและสระน้ำ ทางด้านทิศเหนือมีทางเดินเชื่อมกับส่วนในหรือส่วนที่หนึ่ง กำแพงชั้นนอกด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูขนาดใหญ่หรือโคปุระชั้นนอกรูปกากบาท ตรงกับโคปุระชั้นใน (มีช่องประตู 3 ช่อง) ยังคงปรากฏช่องหน้าต่างและลูกมะหวดรวมทั้งกรอบประตูหินทรายส่วนที่ 3 อยู่นอกกำแพงชั้นนอกหรือส่วนที่สองออกมาทางด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ มีฐานอาคารก่อด้วยฐานก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และอิฐ 2 หลัง ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันหน้าเข้าหากัน (อาคารหลังด้านขวาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนอาคารหลังด้านซ้ายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ส่วนบนอาจจะสร้างด้วยไม้ ฐานอาคารทั้งสองหลังมีผังเป็นสี่เหลี่ยมมีมุขยื่นมาทางด้านหน้า ฐานสูง มีบันไดขึ้นสู่ด้านบนของฐานทั้ง 4 ด้าน มีกำแพงล้อมรอบ มีโคปุระที่ด้านหน้าและหลัง (ด้านหน้ามีขนาดใหญ่กว่า) ภายในห้องประธานของอาคารหลังด้านทิศตะวันตกมีฐานศิวลึงค์และโยนีหินทรายตั้งอยู่กลางห้อง เช่นเดียวกับอาคารหลังด้านทิศตะวันออกที่มีฐานประติมากรรมหินทรายตั้งอยู่กลางห้องประธาน จากการขุดค้นที่พบหลักฐานสำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ฐานศิวลึงค์ หน้าบันสลักภาพอุมามเหศวร ทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้มเหนือหน้ากาล ประติมากรรมโคนนทิ และจารึก 3 หลัก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าศาสนสถานหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะร่วมแบบเกาะแกร์-แปรรูป ส่วนจารึกระบุมหาศักราช 896 ตรงกับ พ.ศ.1517

ปราสาทนารายณ์เจงเวง
สกลนคร
สถาปัตยกรรมปราสาทนารายณ์เจงเวง

ปราสาทนารายณ์เจงเวง เป็นปราสาทหลังเดี่ยว ก่อด้วยหินทราย ทั้งหลัง ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษ เนื่องจากปราสาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหลังอื่นๆมักใช้วัสดุอื่นหรือวัสดุผสม ถ้าอนุมานจากรายละเอียดของภาพสลักและการใช้วัสดุ ย่อมแสดงใหเห็นว่าปราสาทแห่งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทในบริเวณเดียวกัน เช่น ปราสาทพระธาตุดุม และปราสาทภายในพระธาตุเชิงชุมแผนผังปราสาทประกอบด้วยห้องครรภคฤหะและมีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออก มีประตูทางด้านหน้าเพียงทิศเดียว ส่วนทิศอื่นเป็นประตูหลอก ซื่งปรากฏโดยปกติกับปราสาทในศิลปะบาปวนและนครวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปราสาทแห่งนี้ก็คือยังคงปรากฏโสมสูตรที่ประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ ภาพสลักส่วนมากเป็นภาพเล่าเรื่องในไวษณพนิกาย เช่น นารายณ์บรรทมสินธุ์ พระกฤษณะปราบสิงห์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน้าบันกลางกลับแสดงภาพศิวนาฏราชซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างเพื่ออุทิศให้กับไศวนิกายมากกว่า

ปราสาทหนองบัวราย
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมปราสาทหนองบัวราย

ประกอบด้วยปราสาทประธานมีทางเข้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเข้านั้นทำเป็นมุขยื่นออกมาและมีการเจาะช่องหน้าต่างทั้ง 2 ด้านๆ ละ 1 ช่อง ยอดปราสาทมี 4 ชั้น มีการเจาะตกแต่งเป็นช่องสี่เหลี่ยม ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งหันหน้าเข้าปราสาทประธาน ด้านหน้าของปราสาทประธานมีทางเดินรูปกากบาททอดยาวมาจนถึงโคปุระ ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วในบริเวณใกล้เคียงพบชิ้นส่วนหน้าบันรูปพระวรกายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ประทับยืนตรง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกแนวกำแพงแก้วมีสระน้ำในผังรูปสี่เหลี่ยม จากลักษณะของแผนผังและรูปแบบการก่อสร้าง เช่น ตัวปราสาทที่มีมุขยื่นและมีช่องหน้าต่างทั้ง 2 ด้าน จะพบโบราณสถานในรูปแบบเดียวกันได้อีกที่กู่สันตรัตน์ จังหวัดมหาสารคาม หรือปราสาทตาเมือนโต๊ด จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น

ปรางค์กู่
ชัยภูมิ
สถาปัตยกรรมปรางค์กู่

ปรางค์กู่เป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่มีแผนผังและลักษณะเหมือนกับโบราณสถานที่ได้พบหลักฐานว่าเป็นอโรคยาศาล ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ก็คือ มีองค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ บรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมด้วยกำแพงซึ่งมีโคปุระเฉพาะด้านหน้าทั้งหมด ก่อด้วยอิฐศิลาแลงยกเว้นกรอบประตูหน้าต่าง ทับหลัง เสาประดับล้วนเป็นหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์มีสระน้ำ 1 สระ ยังคงสภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะองค์ประธานซึ่งมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านข้างทางซ้ายและขวาจำหลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร กับรูปนางปรัชญาปารมิตา ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกัน สันนิษฐานว่าสลักเป็นภาพเดียวกัน แต่ปัจจุบันลบเลือนมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือยังมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวาราวดี ขนาดสูง 1.75 เมตร หน้าตักกว้าง 7.5 เมตร ประดิษฐานอยู่ 1 องค์ ซึ่งเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น

ปราสาทบ้านบุ
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมปราสาทบ้านบุ

เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก - ตะวันตก มีทางเข้าด้านหน้าซึ่งหันไปทางทิศตะวันออก ช่วงหลังเป็นตัวปราสาทซึ่งแบ่งเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสส่วนกรอบประตูทางเข้ามีการนำศิลาทรายซึ่งมีลวดลายดอกไม้สี่กลีบแต่เดิมมาใช้ในการก่อสร้าง โดยหันแผ่นศิลาทรายด้านสลักลวดลายเข้าข้างใน คล้ายกับปรางค์หินแดงที่ปราสาทหินพิมาย ในการนำวัสดุในศิลปะเก่ากว่ากลับมาใช้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้พบบัวยอดปราสาทขนาดใหญ่ในรูปแบบศิลปะร่วมแบบบายน ดังเช่นยอดโคปุระของปราสาทพระขรรค์ในกัมพูชา ทางเดินเชื่อมด้านทิศใต้มีการเจาะช่องหน้าต่าง 3 ช่อง และตรงมุขอีก 1 ช่อง ด้านเหนือก่อทึบในขณะที่ส่วนบนหักพังจนเกือบหมด และมีหลังคาโค้งเหนือทางเดินที่สร้างระหว่างตัวปราสาทกับมุข

พระพุทธสิหิงค์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธสิหิงค์

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก อุษณีษะทรงสูง รัศมีเป็นเปลวไฟค่อนข้างสูง พระเนตรหรี่เหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายสมส่วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวหงายที่มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่

พระพุทธสิหิงค์
เชียงใหม่
ประติมากรรมพระพุทธสิหิงค์

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์แย้ม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวหงายที่มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่ รองรับด้วยฐานเชียงแปดเหลี่ยม

พระพุทธรูปปางมารวิชัยมีจารึก
เชียงใหม่
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีจารึก

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ อุษณีษะทรงสูง ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยมซึ่งหล่อติดกับพระพุทธรูป ฐานล่างสุดมีจารึกอยู่ทั้งหมด 4 แถวเริ่มจากด้านหน้าต่อเนื่องไปถึงบางส่วนของด้านหลัง เป็นตัวเลข เรือนยันต์ตัวเลข ดวงฤกษ์ แล้วจึงเป็นข้อความภาษาบาลีและภาษาไทยด้วยอักษรธรรมล้านนา