ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระพุทธสิหิงค์
คำสำคัญ : วัดพระสิงห์, พระพุทธรูป, พระพุทธสิหิงค์, ศิลปะล้านนา
ชื่อหลัก | วัดพระสิงห์ |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระสิงห์ |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
ภาค | ภาคเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 18.788377 Long : 98.981154 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 498013.99 N : 2077412.18 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | พระพุทธรูปประธานในวิหารลายคำ |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง แต่ตามตำนานกล่าวว่า ท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงรายอัญเชิญมาพร้อมกับพระแก้วมรกตจากเมืองกำแพงเพชรในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | หล่อสำริด |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์แย้ม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวหงายที่มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่ รองรับด้วยฐานเชียงแปดเหลี่ยม |
สกุลช่าง | เชียงใหม่ – ลำพูน |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวล้านนาที่เป็นต้นแบบการจำลองพระพุทธสิหิงค์ในสมัยต่อมา |
ข้อสังเกตอื่นๆ | 1. เศียรพระพุทธสิหิงค์ในปัจจุบันเป็นเศียรที่หล่อขึ้นใหม่แทนเศียรเดิมที่ถูกตัดไปแล้วเมื่อ.ศ. 2465 แต่ยังสามารถตรวจสอบกับพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกัน เช่น พระพุทธรูปแบบสิงห์หนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ที่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ 2. พระพุทธรูปศิลปะล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 นิยมประทับนั่งบนฐานเขียงเรียบ ส่วนฐานปัจจุบันจึงอาจเป็นงานที่สร้างเพิ่มเติมในภายหลัง |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านนา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 20 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ตำนานพระพุทธสิหิงค์มีอยู่หลายฉบับ เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ หรือ ตำนานพระพุทธสิหิงค์ โดยมีเนื้อหาหลักใจความตรงกัน คือ พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในลังกา กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยนาม โรจราช ได้ยินกิตติศัพท์จึงสอบถามเรื่องนี้กับพระเจ้านครศรีธรรมราชซึ่งได้แนะนำให้พระองค์ส่งทูตไปขอต่อพระเจ้ากรุงสิงหล พระเจ้ากรุงสิงหลจึงได้ส่งพระพุทธสิหิงค์มาที่นครศรีธรรมราช แม้ระหว่างแพจะแตกก็ตาม เมื่อมาถึงพระเจ้ากรุงสุโขทัยจึงอัญเชิญไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ได้แก่ เมืองชัยนาท กรุงศรีอยุธยา เมืองกำแพงเพชร จนขึ้นมาสู่ล้านนาตามลำดับ โดยตำนานนี้เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาหรือพระเจ้าแสนเมืองมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เพราะบุคคลสำคัญ คือ ท้าวมหาพรหมเป็นผู้อัญเชิญมา ซึ่งจากการตรวจสอบรูปแบบ พระพุทธสิหิงค์และพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาพร้อมกันล้วนมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 สอดคล้องกับในตำนาน และอาจเป็นไปได้ว่า ผู้ที่สร้างพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้อาจเป็นท้าวมหาพรหมก็ได้ |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพระเจ้าเม็งราย จังหวัดเชียงใหม่ ตัวอย่างสำคัญของพระพุทธรูปแบบสิงห์หนึ่งที่มีจารึกระบุชื่อ “พระพุทธสิหิงค์” ชื่อผู้สร้างและปีที่สร้างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงการจำลองพระพุทธรูปสิหิงค์อย่างแพร่หลายในล้านนา 2. พระพุทธสิหิงค์ วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ตัวอย่างพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยาที่มีจารึกระบุชื่อ พระพุทธสิหิงค์ แสดงให้เห็นว่าชาวอยุธยารู้จักพระพุทธสิหิงค์ว่าเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรเช่นเดียวกับชาวล้านนา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-05-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556. George Coedes. Document sur l’histoire politique et religieuse du Laos occidental (แปลจากชินกาลมาลีปกรณ์) Paris: BEFEO., 1912. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “พระพุทธสิหิงค์คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา” ศิลปวัฒนธรรม, 26,2 (ธันวาคม 2547): 94 – 99. รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2552. |