ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก อุษณีษะทรงสูง รัศมีเป็นเปลวไฟค่อนข้างสูง พระเนตรหรี่เหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายสมส่วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวหงายที่มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่
ประติมากรรมพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์แย้ม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวหงายที่มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่ รองรับด้วยฐานเชียงแปดเหลี่ยม
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีจารึก
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ อุษณีษะทรงสูง ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยมซึ่งหล่อติดกับพระพุทธรูป ฐานล่างสุดมีจารึกอยู่ทั้งหมด 4 แถวเริ่มจากด้านหน้าต่อเนื่องไปถึงบางส่วนของด้านหลัง เป็นตัวเลข เรือนยันต์ตัวเลข ดวงฤกษ์ แล้วจึงเป็นข้อความภาษาบาลีและภาษาไทยด้วยอักษรธรรมล้านนา
ประติมากรรมพระเจ้าเก้าตื้อ
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก อุษณีษะทรงสูง รัศมีเป็นเปลวไฟค่อนข้างสูง พระเนตรหรี่เหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายสมส่วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์
จิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์เขียนบริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง แบ่งองค์ประกอบภาพเป็นกลุ่มๆโดยมีแนวภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ และสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีทั้งแบบไทย จีน และตะวันตก เป็นแนวแบ่งกลุ่มภาพเพื่อเล่าเหตุการณ์ที่สำคัญของเรื่อง มีภาพธรรมชาติและทิวทัศน์เป็นฉากหลัง มีการแสดงระยะใกล้-ไกล และใช้เส้นขอบฟ้า ซึ่งลักษณะเหล่านี้บ่งบอกถึงอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 3-4
สถาปัตยกรรมวิหารพระสิงห์
วิหารพระสิงห์มีรูปแบบอาคารเช่นเดียวกับวิหารล้านนารุ่นเก่า มีหลังคาซ้อน 3 ชั้นที่ด้านหน้า และ 2ชั้น ที่ด้านหลัง โดยมีตับหลังคาด้านข้าง 2 ตับ โครงสร้างหลังคาเป็นการเข้าเครื่องไม้เพื่อรับน้ำหนักเรียกว่า ม้าต่างไหม โครงสร้างหลังคาประกอบด้วยหน้าจั่ว ป้านลมหรือตัวรวย ซึ่งมีการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ส่วนหน้าบันประกอบด้วยรวงผึ้งหรือโก่งคิ้วมีลักษณะเป็นแผงไม้ประดับที่ด้านหน้าระหว่างเสา ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุม มีทางเข้าด้านหน้าเป็นทางเข้าหลัก และมีทางเข้าเล็กๆที่ด้านซ้ายและขวาของอาคาร ที่ทางเข้าหลักประดับราวบันไดด้วยปูนปั้นรูปนาคและตัวมอมซึ่งเป็นสัตว์ผสมในจินตนาการ ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถาน
จิตรกรรมวิหารพระสิงห์
ภายในวิหารลายคำมีงานจิตรกรรมที่น่าสนใจของล้านนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่จิตรกรรมลายคำซึ่งอยู่เบื้องหลังพระประธาน จิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสุวรรณหงส์ที่ผนังด้านทิศใต้และจิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสังข์ทองที่ผนังด้านทิศเหนือซึ่งทั้ง 2 เรื่องมีที่มาจากปัญญาสชาดกสำหรับลายคำเบื้องหลังพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระประธานนั้นเป็นภาพเขียนด้วยทองคำเปลวบนพื้นสีแดง เขียนเป็นภาพกู่หรือปราสาทซึ่งเป็นอาคารหลังคาลาดซ้อนชั้นอันเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนาที่นิยมใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ต่างจากภาคกลางที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบนฐานชุกชี ลวดลายประดับอื่นๆ ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะล้านนากับศิลปะจีน ได้แก่ ลายเมฆ ลายมุกไฟ และลายมังกร โดยบางแห่งใช้เทคนิคการปิดทองบนกระดาษปรุลาย