ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วิหารพระสิงห์
คำสำคัญ : วัดพระสิงห์, วิหารพระสิงห์, วิหารลายคำ
ชื่อเรียกอื่น | วิหารพระพุทธสิหิงค์, วิหารลายคำ |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ศรีภูมิ |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
ภาค | ภาคเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 18.788366 Long : 98.98119 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 498017.77 N : 2077410.99 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | ประวัติวัดพระสิงห์ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกว่า พระยาผายูโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของพระยาคำฟูเมื่อ พ.ศ.1887 แล้วให้สถาปนาเป็นพระอารามชื่อ พระเชียง ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่หน้าตลาด (ลี) จึงเรียกกันว่า วัดลีเชียงพระ สำหรับตำนานมูลศาสนากล่าวถึงประวัติการสร้างต่างออกไป โดยระบุว่า พระยาผายูสร้างวัดลีเชียงพระขึ้น ครั้งนั้นพระองค์ประสงค์สร้างเจดีย์ไว้ในวัดจึงให้คนทั้งหลายหาดินและอิฐ โดยดินและอิฐนั้นนำมานั้นนำมาจากเจดีย์หางรอบ (หางรอม) แต่มีจำนวนน้อยนัก พระยาผายูจึงให้ก่อเป็นเจดีย์องค์เล็กไว้องค์หนึ่ง เรียกว่าวัดกู่น้อย เมื่อพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานยังอารามนี้ในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาจึงเรียกนามใหม่ว่า วัดพระสิหิงค์ จากนั้นวัดพระสิงห์ก็ได้รับการทำนุบำรุงเสมอมา ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งก่อนสมัยปัจจุบันเกิดขึ้นโดยการนำของครูบาศริชัย ในส่วนของวิหารลายคำนั้น จากการศึกษาทางรูปแบบศิลปกรรมที่เทียบได้กับวิหารที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในช่วงนี้ ซึ่งอาจจะตรงกับ พ.ศ.2407 ตามที่ได้พบในพงศาวดารโยนกก็ได้ โดยเป็นการซ่อมแซมอยู่บนรากฐานวิหารหลังเดิม |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรได้บูรณะภาพจิตรกรรมในวิหารลายคำเมื่อ พ.ศ.2516 สภาพของจิตรกรรมฝาผนังส่วนมากขำรุดกะเทาะหลุดและถูกน้ำไหลทำให้เสียหาย จึงทำความสะอาดผนังปูนแล้วเสริมความมั่นคงให้กับชั้นสีและผนังปูน และเสริมมั่นคงของปูนกับอิฐจากนั้นจึงซ่อมสีโดยผสมสีให้ใกล้เคียงกับสีเดิมหรือให้น้ำหนักเบากว่าเดิมเพื่อให้เห็นความแตกต่างกับของเดิม |
ลักษณะทางศิลปกรรม | วิหารพระสิงห์มีรูปแบบอาคารเช่นเดียวกับวิหารล้านนารุ่นเก่า มีหลังคาซ้อน 3 ชั้นที่ด้านหน้า และ 2ชั้น ที่ด้านหลัง โดยมีตับหลังคาด้านข้าง 2 ตับ โครงสร้างหลังคาเป็นการเข้าเครื่องไม้เพื่อรับน้ำหนักเรียกว่า ม้าต่างไหม โครงสร้างหลังคาประกอบด้วยหน้าจั่ว ป้านลมหรือตัวรวย ซึ่งมีการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ส่วนหน้าบันประกอบด้วยรวงผึ้งหรือโก่งคิ้วมีลักษณะเป็นแผงไม้ประดับที่ด้านหน้าระหว่างเสา ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุม มีทางเข้าด้านหน้าเป็นทางเข้าหลัก และมีทางเข้าเล็กๆที่ด้านซ้ายและขวาของอาคาร ที่ทางเข้าหลักประดับราวบันไดด้วยปูนปั้นรูปนาคและตัวมอมซึ่งเป็นสัตว์ผสมในจินตนาการ ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถาน |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | วิหารพระสิงห์หรือวิหารลายคำ วัดพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของวิหารล้านนาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะโกสินทร์ เนื่องจากมีการประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์แบบกรุงเทพฯ รูปแบบดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่อาณาจักรล้านนาขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยปรากฏชัดเจนในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 วิหารนี้ถือเป็นตัวอย่างของงานอาคารเครื่องไม้แบบล้านนาที่ได้สัดส่วนงดงาม พงศาวดารโยนกระบุว่า เมื่อสร้างวัดขึ้นในสมัยพระเจ้าผายู โปรดให้อาราธนาพระมหาอภัยจุฬาเถระ พร้อมพระสงฆ์ 10 รูป จากเมืองหริภุญชัย มาเป็นสังฆราชา ครองวัดลีเชียงพระ หรือวัดพระสิงห์ ต่อมาในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาตั้งใจอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ที่ได้มาจากเมืองกำแพงเพชรด้วยราชรถไปประดิษฐานยังวัดบุปผาราม ทว่าเมื่อมาถึงหน้าวัดชีเลียงพระราชรถกลับติดขัดไปต่อไม่ได้ พระเจ้าแสนเมืองมาจึงคิดว่าพระพุทธสิหิงค์พอพระทัยจะอยู่วัดนี้ จึงอัญเชิญประดิษฐานไว้ในวิหาร และเรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดพระสิงห์นับแต่นั้น |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านนา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-07-09 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557.1.ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. สงวน โชติสุขรัตน์. ตำนานเมืองเหนือ. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. เสรี นิลประพันธ์, “การอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่”, ศิลปากร. ปีที่18ฉบับที่1 (พฤษภาคม2517),หน้า 66 – 70. |