ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, พระพุทธสิหิงค์, วัดบวรสถานสุทธาวาส, วัดพระแก้ววังหน้า

ชื่อเรียกอื่นจิตรกรรมฝาผนังวัดบวรสถานสุทธาวาส
ชื่อหลักวัดบวรสถานสุทธาวาส
ชื่ออื่นวัดพระแก้ววังหน้า
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.759543
Long : 100.491553
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661257.35
N : 1521633.28
ตำแหน่งงานศิลปะผนังระหว่างช่องหน้าต่างภายในพระอุโบสถ

ประวัติการสร้าง

รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส และโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์และพระอดีตพุทธเจ้า แต่เมื่อสิ้นรัชกาลก็มิได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานในพระอุโบสถ โดยยังคงประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพระราชวังบวรสถานมงคลตราบจนปัจจุบัน จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างในช่วงรัชกาลที่ 3-4 โดยพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ต้นราชสกุลอิศรศักดิ์ พระราชโอรสของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเป็นแม่กองควบคุมการเขียนภาพ โดยมีภาพเขียนของครูช่างที่สำคัญ เช่น พระอาจารย์แดงวัดหงส์รัตนาราม เขียนภาพชนช้างที่ห้องด้านมุขตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ภาพเขียนสีฝุ่น

ลักษณะทางศิลปกรรม

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธสิหิงค์เขียนบริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง แบ่งองค์ประกอบภาพเป็นกลุ่มๆโดยมีแนวภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ และสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีทั้งแบบไทย จีน และตะวันตก เป็นแนวแบ่งกลุ่มภาพเพื่อเล่าเหตุการณ์ที่สำคัญของเรื่อง มีภาพธรรมชาติและทิวทัศน์เป็นฉากหลัง มีการแสดงระยะใกล้-ไกล และใช้เส้นขอบฟ้า ซึ่งลักษณะเหล่านี้บ่งบอกถึงอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 3-4

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

จิตกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาสเขียนเล่าเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสำคัญที่เชื่อกันว่ามีที่มาจากเกาะลังกา สันนิษฐานว่าภาพจิตรกรรมเรื่องนี้เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ที่ย้ายจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้กลับมาประดิษฐานในพระราชวังบวรสถานมงคลดังเดิม

แนวคิดในการนำเสนอภาพจิตรกรรมจึงมีความสอดคล้องกับพระพุทธรูปประธานตามที่มีพระราชดำริ แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตก่อน พระพุทธสิหิงค์จึงยังมิได้อัญเชิญมาที่พระอุโบสถ

รูปแบบและเทคนิคงานจิตรกรรมเป็นการผสมผสานระหว่างแบบไทยประเพณีและตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมของงานช่างในราชสำนักขณะนั้น ดังจะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่เป็นอุดมคติอย่างตำนานพระพุทธสิหิงค์ แสดงออกผ่านภาพตัวละครที่มีรูปแบบอย่างไทยประเพณี โดยมีสถานที่สำคัญคือพระราชวังในเมืองลังกาที่ปรากฏภาพอาคารแบบตะวันตกอาจเป็นเพราะว่าเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในช่วงเวลานั้นว่าศรีลังกาได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานพระพุทธสิหิงค์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-30
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

เกษร อินทร์ขำ, เรียบเรียง. จิตรกรรมฝาผนังวัดบวรสถานสุทธาวาส (พระแก้ววังหน้า). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2557.