ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 113 ถึง 120 จาก 169 รายการ, 22 หน้า
พระตำหนักดอยตุง
เชียงราย
สถาปัตยกรรมพระตำหนักดอยตุง

พระตำหนักดอยตุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ผสมผสานสถาปัตยกรรมล้านนาและชาเลต์ของสวิสส์ ผนังด้านนอกปิดด้วยปีกไม้สักทอง ผนังด้านในบุด้วยไม้สนภูเขา ชั้นบนจะเสมอกับลานกว้างของยอดเนินเขา ชั้นล่างจะลดหลั่นไปตามเนินเขา ชั้นบนแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นท้องพระโรงซึ่งมีชั้นยกใต้หลังคาสำหรับเก็บของ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และที่ประทับของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงครามเหนือจั่วหลังคาพระตำหนักเป็นกาแลจำหลักลาย เชิงชายแกะลายเมฆไหล ตามขอบหน้าต่างและระเบียงแกะสลักเป็นภาพการดำเนินชีวิตของชาวเหนือเกี่ยวกับช้างและป่าไม้ ภายในห้องประดับด้วยไม้แกะสลักศิลปะพื้นบ้านเป็นรูปดอกไม้ กลุ่มดาวและสัตว์ผนังเชิงบันไดสู่ชั้นล่างแกะเป็นตัวอักษรภาษาไทย ตรงลูกกรงเป็นไม้จำหลักรูปเลขไทย ภายในท้องพระโรงบุฝาผนังด้านหนึ่งด้วยผ้าไหมปักรูปดอกไม้ และประดับภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ เสาบางต้นแขวนผ้าครอสติชเป็นรูปต่างๆ หน้าประตูห้องบรรทมเป็นผ้าตัวอักษรภาษาอังกฤษล้อมด้วยดอกไม้ตามอักษรขึ้นต้น ด้านหลังพระตำหนักเป็นระเบียงยาว บริเวณกระบะสำหรับปลูกดอกไม้แกะสลักภาพโขลงช้างในป่าและช้างทำงาน ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามหญ้าและสวนดอกไม้ ชั้นล่างเป็นส่วนที่พักและที่ทำการของข้าราชบริพาร บนผนังจารึกบทกวีของสุนทรภู่เรื่องสุนทรภู่ ด้านหน้าสวนหน้าพระตำหนักไปทางด้านที่ประทับมีสวนครัวเล็กๆส่วนพระองค์ ทำแปลงผัก

วัดปรมัยยิกาวาส
นนทบุรี
สถาปัตยกรรมวัดปรมัยยิกาวาส

วัดปรมัยยิกาวาสมีพระอุโบสถเป็นประธาน หน้าบันประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 รูปพระจุลมงกุฎ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานและพระสาวก จิตรกรรมฝาผนังภายในเขียนเรื่องธุดงควัตรและพุทธประวัติภายหลังการตรัสรู้ ฝีมือของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ด้านหลังพระอุโบสถคือพระมหารามัญเจดีย์ ภายในวัดยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปหินอ่อนและพระนนทมุนินท์ พระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี เพดานตกแต่งด้วย ศาลารับเสด็จ และพระเจดีย์มุเตา เจดีย์ในศิลปะมอญสีขาวริมน้ำ

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศา รัศมีเป็นเปลวไฟ มีพระเกตุมาลา พระอังสาใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางเรียบไม่มีริ้ว ปรากฏรัดประคดและจีบเป็นแถบที่สบง ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายบนฐานแปดเหลี่ยม

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ พระพักตร์สงบนิ่งอย่างหุ่น พระขนงโก่ง มีอุณาโลมบนพระนลาฏ ทรงมงกุฎประกอบด้วยกรรเจียกจร พระพุทธรูปแสดงปางห้ามสมุทร หรือประทานอภัย 2 พระหัตถ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สวมกรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ สายรัดพระองค์มีปั้นเหน่งรูปดอกไม้แปดเหลี่ยม ด้านล่างมีสุวรรณกระถอบห้อยอยู่เบื้องหน้า มีทั้งชายไหวชายแครง ทรงทองพระบาทและฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานสิงห์มีสิงห์แบก ครุฑแบกและเทวดาแบกลดหลั่นกัน

พระสยามเทวาธิราช
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสยามเทวาธิราช

รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ

จิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างเป็นงานจิตรกรรมดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ตั้งแต่อัญเชิญเสด็จจากลพบุรีสู่เมืองหริภุญชัยไปจนถึงการเสด็จสู่กรุงรัตนโกสินทร์และการสมโภช มีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการเขียนแบบไทยประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เพิ่งจะเข้ามาในสมัยนั้น ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสมจริงมากขึ้นกว่างานแบบไทยประเพณีดั้งเดิม จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าประวัติของพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบริบทสังคมในสมัยนั้นๆ ลงไปในฉาก เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการแสดงรูปบุคคล เครื่องแต่งกาย พาหนะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีตรงตามยุคสมัยในฉากนั้นๆเพื่อให้เกิดความสมจริง

พระพุทธรัตนสถาน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระพุทธรัตนสถาน

พระพุทธรัตนสถานเป็นอาคารแบบไทยประเพณีในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียวยกพื้นสูงตั้งบนฐานไพที ฐานประทักษิณ และฐานบัว ผนังด้านนอกเป็นหินอ่อน ด้านหน้ามีมุขลด รอบอาคารมีเสาพาไล ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดมงกุฎ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันมีเครื่องลำยอง หน้าบันมุขลดเป็นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพาน 2 ชั้น ขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้นซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 หน้าบันหลักทั้งหน้าและหลังเป็นรูปครุฑยุดนาคซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 2 มีรูปพระวิมานและพระมหามงกุฎประดับอยู่เบื้องล่างซ้ายและขวา มีอาคารประกอบเป็นศาลาโถง 2 หลังซ้ายขวา ด้านหน้ามีหอระฆัง และเสาประทีป 4 ต้น

พระสัมพุทธพรรณี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณี

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ 1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น 3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น