ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระสัมพุทธพรรณี

คำสำคัญ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดพระแก้ว, พระบรมมหาราชวัง, พระสัมพุทธพรรณี

ชื่อหลักวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ชื่ออื่นวัดพระแก้ว, พระบรมมหาราชวัง, วังหลวง
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.751316
Long : 100.492618
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661377.14
N : 1520723.14
ตำแหน่งงานศิลปะภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ประวัติการสร้าง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปดรเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2373 เมื่อครั้งทรงผนวช ความดังนี้ “.... เมื่อศักราช 1192 ปีขาล โทศก มีรับสั่งขุนอินทรพินิจเจ้ากรมช่างหล่อให้ทำหุ้มรูปพระพุทธปฏิมากร หน้าตักศอกเศษ หล่อองค์หนึ่ง มีพระนามว่า พระสัมพุทธพรรณี” เดิมประดิษฐานอยู่ภายในพระตำหนักที่วัดสมอราย(วัดราชาธิวาส) ครั้นเมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานบนฐานชุกชีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อโลหะ กะไหล่ทอง

ประวัติการอนุรักษ์

-

ขนาดหน้าตักกว้าง 49 เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ 67.50 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี 93 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 206 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้

พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ

1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี

2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น

3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ตั้งแต่เมื่อทรงผนวช และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระพุทธรูปประธานของคณะสงฆ์ธรรมยุตเมื่อครั้งที่ประทับจำพรรษาที่วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาส ถือเป็นพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมองค์แรกที่สร้างขึ้น มีรูปแบบที่สำคัญได้แก่ การไม่ทำอุษณีษะ ครองจีวรห่มเฉียงและเริ่มทำริ้วจีวรอย่างเป็นธรรมชาติ ที่ฐานของพระสัมพุทธพรรณีมีจารึกข้อความนามพระพุทธรูปด้วยอักษรมอญ ภาษาบาลี ฐานประดับด้วยลวดลายคล้ายผ้าม่านม้วนและพวงมาลาแบบตะวันตก รวมทั้งมีลวดลายสลักเป็นพรรณพฤกษาและซุ้มศัตราวุธที่หน้ากระดานล่างของฐาน

ข้อสังเกตอื่นๆ

พระรัศมีเปลวของพระสัมพุทธพรรณีสมารถถอดเปลี่ยนได้ มีทั้งหมด 3 สี ได้แก่ สีทองสำหรับฤดูร้อน สีน้ำเงินสำหรับฤดูฝน และสีขาวสำหรับฤดูหนาว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือผู้แทนพระองค์จะทรงเปลี่ยนพระรัศมีพระสัมพุทธพรรณีในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

-

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

พระสัมพุทธพรรณี วัดราชาธิราช ซึ่งจำลองจากพระสัมพุทธพรรณีในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นวัดเดิมที่เคยประดิษฐานพระพุทธรูปนี้เมื่อแรกสร้าง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2017-05-02
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
บรรณานุกรม

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขา, 2535.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.