ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ
คำสำคัญ : พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ, พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ
ชื่อเรียกอื่น | พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ |
---|---|
ชื่อหลัก | ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | บ้านหลวง |
อำเภอ | จอมทอง |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
ภาค | ภาคเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 18.553363 Long : 98.479429 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 445057.33 N : 2051467.76 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | บนดอยอินทนนท์ ใกล้กับพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล |
ประวัติการสร้าง | กองทัพอากาศได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริเมื่อ พ.ศ. 2535 และได้น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เคียงคู่กับพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีรับการน้อมเกล้าฯ ถวาย พระมหาธาตุเจดีย์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2536 โดยมีนางไขศรี ตันศิริและนายสันติ ชยสมบัติ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และนายกัญจนจักก์ สถาปนสุต เป็นวิศวกร |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | - |
ประวัติการอนุรักษ์ | - |
ขนาด | สูง 55 เมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เจดีย์เป็นทรงระฆังในผัง 12 เหลี่ยม พื้นผิวเจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีม่วง ผนังด้านนอกตกแต่งด้วยภาพดินเผาเคลือบสีเป็นเรื่องของพระภิกษุณีผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งมวล องค์เจดีย์ช่วงล่างมีบัวรัดรอบ แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ช่วงบนแบ่งเป็นชั้นเล็กๆอีก 25 ชั้น ก่อนถึงยอดปลีมีฐานรองรับซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นเล็กๆอีก 8 ชั้น ยอดปลีด้านบนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เหนือยอดปลีมีฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น องค์เจดีย์มีระเบียง 2 ระดับตกแต่งด้วยภาพดินเผาเคลือบสีน้ำตาลเล่าเรื่องอุบาสิกาที่พระพุทธเจ้าประกาศว่าเป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายและภาพสวรรค์ 6 ชั้น บริเวณทางเข้าประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ สก. ทั้ง 3 ด้าน ภายในโถงกลางทรงโดม ผนังตอนล่างตกแต่งด้วยภาพแกะสลักหินแกรนิตสีขาวเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผนังตอนบนตกแต่งด้วยโมเสกแก้ว ออกแบบและลงสีด้วยคอมพิวเตอร์เล่าเรื่องพุทธประวัติที่สัมพันธ์กับพระนางสิริมหามายา พระนางปชาบดีโคตมี พระนางยโสธราพิมพา และนางวิสาขา บนเพดานตกแต่งด้วยโมเสกแก้วสีรูปดอกสาละ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึงแกะสลักจากหยกขาว ได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธสิริกิติทีฆายุมงคล” เจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ 1) ทรง 12 เหลี่ยมหมายถึง อัจฉริยธรรม 12 ประการของพระพุทธมารดา 2) การแบ่งชั้นเจดีย์น้อยใหญ่รวม 37 ชั้น หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ การที่เจดีย์องค์นี้เลือกใช้สีม่วงเพื่อให้มีความอ่อนหวานงดงามตามลักษณะความงามของกุลสตรีไทย เจดีย์องค์นี้มีความสูง 55 เมตรซึ่งต่ำกว่าความสูงของพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล มีความหมายถึงพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5 พรรษา |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ มีความหมายว่า “เป็นกำลังแห่งฟ้า เป็นสิริแห่งดิน” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อพ.ศ.2535 โดยจัดสร้างบนยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นยอดดอยที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย การออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์เป็นไปตามแนวคิดเนื่องในพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องสตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในครั้งพุทธกาล รวมทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | - |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 26 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | - |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระมหาธาตุนภเมทนีดล จังหวัดเชียงใหม่ |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-04-04 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล |
บรรณานุกรม | กองทัพอากาศ. พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ. กรุงเทพฯ: กองทัพอากาศ, 2542. ทศพล จังพาณิชย์กุล. พระธาตุเจดีย์มรดกล้ำค่าของเมืองไทย. กรุงเทพฯ: คอมม่า, 2546. สมชาติ จึงสิริอารักษ์. “สถาปนิกรุ่นแรกๆของคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ความสำเร็จของวันวานฤๅคำตอบของวันพรุ่ง” สถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549. |