ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล

คำสำคัญ : พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล, พระมหาธาตุนภเมทนีดล, ดอยอินทนนท์

ชื่อเรียกอื่นพระมหาธาตุนภเมทนีดล
ชื่อหลักดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลบ้านหลวง
อำเภอจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 18.552061
Long : 98.479966
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 445080.84
N : 2051469.76
ตำแหน่งงานศิลปะบนดอยอินทนนท์ ใกล้กับพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ

ประวัติการสร้าง

กองทัพอากาศได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เคียงคู่กับพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2529 โดยมีพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นประธาน มีนางไขศรี ตันศิริ และนายสันติ ชยสมบัติ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และนายกัญจนจักก์ สถาปนสุต เป็นวิศวกร

กระบวนการสร้าง/ผลิต

-

ประวัติการอนุรักษ์

-

ขนาดสูง 60 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์เป็นทรงระฆังแปดเหลี่ยมมีลวดบัวรัดแบ่งองค์เจดีย์ออกเป็น 3 ชั้น ผิวภายนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีน้ำตาล ส่วนยอดสุดเป็นปลียอดสีทองรองรับด้วยดอกบัวบาน 8 กลีบ เหนือปลียอดกั้นฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนระเบียงกว้าง 2 ระดับ ประดับด้วยซุ้มภาพดินเผาเป็นเรื่องทศชาติชาดกและภาพป่าหิมพานต์ ซุ้มระเบียงด้านล่างเป็นสัญลักษณ์กองทัพอากาศ ในขณะที่ทางเข้าเจดีย์ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ทั้ง 4 ด้าน

ภายในเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวจากอินโดนีเซียไว้ที่กึ่งกลางโถง พระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” ผนังภายในมีภาพแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวเป็นภาพสังเวชนียสถาน เพดานห้องโถงตกแต่งด้วยโมเสกแก้วเป็นรูปดอกสาละ

เจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่

1) ทรงแปดเหลี่ยมของเจดีย์หมายถึงมรรค 8

2) การแบ่งเจดีย์เป็น 3 ชั้น หมายถึงการบำเพ็ญบารมี 3 ขั้น ได้แก่ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี โดยแต่ละขั้นจะมีขั้นละ 10 ทัศ รวมเป็น 30 ทัศ

3) ดอกบัวบานรองรับยอดปลี หมายถึงการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

นอกจากแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาแล้วยังมีบางแนวคิดที่สัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย คือ เจดีย์มีความสูง 60 เมตร หมายถึงการสร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล มีความหมายว่า “พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน” เป็นพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อพ.ศ.2530 โดยจัดสร้างบนยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นยอดดอยที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย การออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์เป็นไปตามแนวคิดเนื่องในพุทธศาสนา รวมทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ข้อสังเกตอื่นๆ

-

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 26
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง

พุทธศาสนาเถรวาท

ตำนานที่เกี่ยวข้อง

-

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ จังหวัดเชียงใหม่

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-03-29
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
บรรณานุกรม

กองทัพอากาศ. พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ. กรุงเทพฯ: กองทัพอากาศ, 2542.

ทศพล จังพาณิชย์กุล. พระธาตุเจดีย์มรดกล้ำค่าของเมืองไทย. กรุงเทพฯ: คอมม่า, 2546.

สมชาติ จึงสิริอารักษ์. “สถาปนิกรุ่นแรกๆของคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ความสำเร็จของวันวานฤๅคำตอบของวันพรุ่ง” สถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.